การศึกษาครั้งใหม่ ยืนยันว่า การเหมารวมพฤติกรรมจากสายพันธุ์ของสุนัข ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์โกลเดน รีทรีฟเวอร์ พูดเดิล หรือ ชเนาเซอร์ ว่า สุนัขที่มาจากสายพันธุ์เดียวกันจะมีพฤติกรรมที่ใกล้เคียงกัน อาจจะไม่ใช่ความเชื่อที่ถูกต้อง เพราะแท้ที่จริง สุนัขแต่ละตัวมีความแตกต่างกันในตัวของมันเองอยู่
สำนักข่าว เอพี พูดคุยกับเจ้าของสุนัข ตามสวนในพื้นที่นครนิวยอร์ก อย่างเช่น อลิซาเบธ เคลลี เจ้าของสุนัขพันธุ์ อิงลิช สปริงเกอร์ สแปเนียล ซึ่งอธิบายว่า สุนัขของเธอมีนิสัยเป็นมิตร แต่ก็มีความหยิ่งอยู่บ้าง ส่วน ซูลี ออทิส เจ้าของสุนัขอีกราย กล่าวว่า สุนัขพันธุ์ ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ ที่เธอเลี้ยง มีความขี้อาย เงียบ ๆ และไม่ค่อยจะทำอะไร
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวเอพี พูดคุยกับ เรเชล คิม ที่เล่าถึงสุนัขสายพันธุ์ผสมที่เธอเลี้ยงว่า “มีบุคลิกของสุนัขหลาย ๆ ตัวในตัวเดียว คือ อยู่ได้ด้วยตนเอง และก็เข้าหาทั้งเธอและสามีของเธอด้วย แต่ก็ค่อนข้างขี้ระแวงกับคนแปลกหน้าและสุนัขตัวอื่นด้วย”
ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากเจ้าของสุนัขเหล่านี้ ชวนให้เกิดคำถามว่า รูปแบบพฤติกรรมของสุนัขส่วนไหนที่ถ่ายทอดกันทางสายเลือดได้ และสายพันธุ์มีส่วนแค่ไหนต่อลักษณะพฤติกรรมที่มีความโดดเด่น รวมไปถึงนิสัยของสัตว์ที่พอจะคาดเดากันได้
เอลินอร์ คาร์ลซัน นักพันธุศาสตร์ และเป็นผู้ร่วมเขียนรายงานการศึกษาฉบับนี้ จากมหาวิทยาลัย University of Massachusetts กล่าวว่า “สุนัขในแต่ละสายพันธุ์ กลับมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันได้อย่างมากมาย ดังนั้น ท้ายที่สุด จึงอาจจะกล่าวได้ว่า สุนัขแต่ละตัวมีความเป็นปัจเจกนั่นเอง”
แคทเธอรีน ลอร์ด ผู้ร่วมเขียนรายงานฉบับนี้ ยกตัวอย่างว่า เธอพบสุนัขพันธุ์โกลเดน รีทรีฟเวอร์ ที่ไม่ได้ชอบคาบของกลับมาคืนเหมือนที่หลายคนเชื่อและคุ้นเคย
ขณะที่ สุนัขบางสายพันธุ์ เช่น ฮัสกีและบีเกิล อาจจะมีแนวโน้มที่ชอบส่งเสียงเห่าหอน ข้อมูลการสำรวจและข้อมูลด้านพันธุกรรมชี้ว่า สุนัขจำนวนไม่น้อยของสายพันธุ์เหล่านี้ไม่มีพฤติกรรมเช่นนั้น
นอกจากนั้น นักวิจัยยังไม่พบความเชื่อมโยงด้านพันธุศาสตร์กับพฤติกรรมที่ก้าวร้าวของสุนัข ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใด
นักวิจัยได้เก็บข้อมูลจากเจ้าของสุนัขจำนวนมากกว่า 18,000 ราย และวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมของสุนัขที่ถูกเลี้ยงดู ประมาณ 2,150 ตัวอย่าง เพื่อค้นหารูปแบบความเกี่ยวพัน และพบว่า พฤติกรรมบางอย่าง เช่น การเห่าหอน การระบุตำแหน่ง และการแสดงความเป็นมิตรกับคนแปลกหน้า อาจจะเกี่ยวข้องกับพื้นฐานของพันธุกรรมอยู่บ้าง แต่ไม่ได้มีกฏตายตัวว่าพฤติกรรมเหล่านี้จะต้องมีการสืบทอดทางสายพันธุ์
และคำตอบที่ได้ก็คือ ลักษณะทางกายภาพอย่างเช่น ขาที่เรียวยาวของสายพันธุ์เกรย์ฮาวด์ หรือว่าจุดดำตามตัวของสายพันธุ์ดัลเมเชียน เป็นสิ่งที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น แต่พันธุ์ของสุนัขกลับไม่ใช่สิ่งที่ใช้คาดเดาบุคลิกของสุนัขแต่ละตัว
อดัม บอยโค นักพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Cornell University ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการศึกษาดังกล่าว ชี้ว่า รายงานฉบับนี้ที่ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Science ช่วงปลายเดือนเมษายน เป็นการรวบรวมชุดข้อมูลขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ก่อนนำไปสู่ข้อสรุปข้างต้น
และแม้สุนัขถูกจัดว่าเป็นเพื่อนที่ดีของมนุษย์มากว่า 14,000 ปี และเป็นสัตว์เลี้ยงเพียงชนิดเดียวที่อยู่กับคนมาตั้งแต่ยุคก่อนการเกษตร เรื่องของแนวคิดสายพันธุ์สุนัขถือว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งก็คือ ราว 160 ปีก่อนหน้านี้เองที่มนุษย์เริ่มมีการคัดแยกสายพันธุ์เพื่อให้เกิดความสม่ำเสมอด้านกายภาพของสุนัข อย่างเช่น ลักษณะขน สี และรูปทรงของใบหู
ทั้งนี้ เจฟฟ์ คิดด์ นักพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัย University of Michigan ที่ไม่มีส่วนกับการทำวิจัยนี้ ให้ความเห็นว่า “สายพันธุ์ของสุนัข และพฤติกรรมของพวกมัน ดูเหมือนจะมีความข้องเกี่ยวน้อยกว่าที่เราคาดไว้มาก”
- ที่มา: เอพี