แม้เหตุไฟป่ารุนแรงบนเกาะเมาวี รัฐฮาวาย จะผ่านพ้นไปแล้ว ความท้าทายที่ยังคงอยู่ในเวลานี้คือ การระบุอัตลักษณ์ของเหยื่อภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในสหรัฐฯ ในรอบหนึ่งร้อยปี ซึ่งทำให้ทีมผู้เชี่ยวชาญที่รัฐบาลกลางส่งไปทำหน้าที่ต้องเร่งทำงานอย่างหนัก
กระทรวงสาธารณสุขและบริการประชาชนสหรัฐฯ ส่งนักนิติเวชวิทยา ช่างเทคนิคด้านเอ็กซ์เรย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านลายนิ้วมือและนิติทันตวิทยา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายโลจิสติกส์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตจากโครงการ Disaster Mortuary Operational Response Team (DMORT) ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ จำนวน 36 คนไปยังเกาะเมาวี เพื่อช่วยรับมือกับหายนะครั้งนี้ ในช่วงที่ศพเหยื่อจำนวนมากยังรอการพิสูจน์อัตลักษณ์และยังมีประชาชนอีกนับร้อยที่ถูกระบุว่าสูญหายไปอยู่ ขณะที่ เจ้าหน้าที่พบเหยื่อไฟป่าที่ถูกเพลิงเผาจนแทบไม่เหลือหลักฐานมากพอเพื่อทำการพิสูจน์
แม้จะมีการประกาศพบศพผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้กว่า 100 คนจนถึงบัดนี้ มีการระบุอัตลักษณ์ของเหยื่ออย่างเป็นทางการได้เพียงไม่กี่คนเท่านั้น
นอกเหนือจากทีมงานผู้เชี่ยวชาญแล้ว กระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯ ยังจัดส่งห้องเก็บศพแบบเคลื่อนย้ายได้สำหรับเหตุภัยพิบัติ 3 ชุด รวมทั้งอุปกรณ์และเสบียงที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติงาน เช่น โต๊ะตรวจพิสูจน์ เครื่องเอ็กซ์เรย์และอุปกรณ์พิมพ์ลายนิ้วมือ ซึ่งมีน้ำหนักรวมกันถึง 22.5 ตันไปยังเกาะเมาวีด้วย
ขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขาพยายามทำหน้าที่ของตนอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูลลายนิ้วมือและข้อมูลอัตลักษณ์ต่าง ๆ ของเหยื่อ การเอ็กซ์เรย์ร่างผู้เสียชีวิตเพื่อหาข้อมูลจากด้านใน เช่น สะโพกเทียม หรือ ข้อมูลด้านทันตกรรม ไปจนถึง การเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ และการตรวจสอบโครงกระดูก ระดับการทำลายล้างของเพลิงต่อร่างของเหยื่อยังเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับทีมงาน
พอล ซเลดซิก นักนิติมานุษยวิทยาและอดีตผู้บังคับบัญชาโครงการ DMORT บอกกับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ว่า ในบางกรณี ไฟได้เผาร่างลึกไปจนถึงในกระดูกจนไม่เหลือตัวอย่างดีเอ็นเอ หรือไม่เหลือข้อมูลด้านทันตกรรมด้วยซ้ำ
ซเลดซิก กล่าวด้วยว่า ในกรณีของไฟป่าเมาวีนี้ ผู้เชี่ยวชาญเรียกว่าเป็น ภัยพิบัติ “แบบเปิด” เนื่องจากไม่มีใครสามารถบ่งชี้จำนวนหรืออัตลักษณ์ของเหยื่อได้ ซึ่งต่างจากกรณีของภัยพิบัติ “แบบปิด” ที่ข้อมูลต่าง ๆ จะมีอยู่ครบ เช่น กรณีเครื่องบินตก เป็นต้น
ภาวะน้ำเป็นพิษ
ผลกระทบอีกด้านจากภัยพิบัติครั้งใหญ่บนเกาะเมาวีคือ การที่น้ำประปาไม่มีความปลอดภัยพอสำหรับการอุปโภค-บริโภค
แอนดรูว์ เวลตัน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพอร์ดิว (Purdue University) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการปนเปื้อนในน้ำหลังเกิดเหตุไฟป่าในพื้นที่เขตเมือง บอกกับผู้สื่อข่าวเอพีว่า แม้แต่อุปกรณ์กรองน้ำที่ประชาชนในสหรัฐฯ ใช้อยู่ก็ไม่สามารถขจัดภาวะ “ปนเปื้อนแบบขีดสุด” ที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ไฟป่าได้ โดยระบุว่า ระบบกรองน้ำนั้นจะสามารถกำจัดสิ่งปนเปื้อนไปได้เพียงบางส่วน แต่ส่วนที่เป็นพิษที่มีผลรุนแรงเฉียบพลันนั้นจะยังคงอยู่ในน้ำต่อไป
ทั้งนี้ ไฟป่าบนเกาะเมาวีได้ทำลายท่อสำหรับน้ำประปาเพื่อการบริโภคจำนวนหลายร้อยจุดและส่งผลให้ระบบแรงดันตามท่อเสียหายจนทำให้สารเคมีที่เป็นพิเศษ โลหะและแบคทีเรียต่าง ๆ หลุดรอดเข้าไปในท่อส่งน้ำได้
เดวิด ชเวียร์ทนีย์ ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและโยธา จากมหาวิทยาลัยแห่งไอโอวา (University of Iowa) กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน น้ำที่มีการปนเปื้อนหรือสกปรกที่อยู่นอกระบบท่อส่งสามารถไหลเข้ามาปนกับน้ำประปาได้ไม่ยาก แม้ว่า ท่อเหล่านั้นจะอยู่ลึกลงไปใต้ดินก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ ในเวลานี้ พื้นที่ประสบภัยบนเกาะเมาวีต้องพึ่งพาน้ำดื่มบรรจุขวดหรือนำพาชนะไปรับน้ำจากรถขนน้ำที่ตระเวณแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัย ขณะที่ เจ้าหน้าที่ของเขตเมาวีเคาน์ตี้ต้องเร่งทดสอบคุณภาพน้ำเพื่อหาว่า มีสารเคมีอันตราย 23 ประเภทที่ปนเปื้อนอยู่ในระบบหรือไม่
- ที่มา: รอยเตอร์และเอพี