ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เส้นใยจากอาหารบางประเภทอาจช่วยป้องกันโรคหอบหืด


ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าโรคหอบหืดเริ่มพบมากขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาเนื่องจากคนเริ่มปรับเปลี่ยนนิสัยการกินจากที่เคยรับประทานอาหารที่มีเส้นใยมากไปรับประทานอาหารแปรรูปกันมากขึ้น

คนเราได้รับเส้นใยสองชนิดจากอาหารที่เรารับประทานได้แก่ เส้นใยอาหารที่ย่อยสลายไม่ได้ในของเหลวกับเส้นใยอาหารที่ย่อยสลายได้ในของเหลวและเส้นใยชนิดที่ย่อยสลายไม่ได้ พบในธัญพืชไม่ขัดขาว แตงกวาเเละผักบร็อคโคลี่ รวมทั้งผักและผลไม้ที่มีกากสูงซึ่งช่วยกำจัดของเสียในระบบขับถ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผลการศึกษาชิ้นใหม่โดยทีมนักวิจัยในประเทศสวิสเซอร์เเลนด์ชี้ว่าเส้นใยอีกประเภทหนึ่งคือเส้นใยอาหารที่ย่อยสลายได้ในของเหลวที่พบในผลไม้และผัก อาจจะสามารถช่วยลดอาการอักเสบหรือติดเชื้อในปอดได้

คุณ Benjamin Marsland นักภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย University of Lausanne กล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าก่อนหน้านี้ แทบจะไม่พบโรคหอบหืดในประชากรของประเทศที่บริโภคอาหารที่มีเส้นใยอาหารชนิดย่อยสลายได้ในของเหลว

เขากล่าวว่าในบางประเทศ อาทิ Burkina Faso ในอาฟริกา คนท้องถิ่นบริโภคอาหารที่มีเส้นใยในปริมาณมากและคนไม่ป่วยด้วยโรคหอบหืด ต่างจากประชากรในประเทศตะวันตกที่คนบริโภคอาหารที่มีเส้นใยต่ำและเป็นโรคหอบหืดกันมากขึ้น

เเบคทีเรียในลำไส้ทำหน้าที่ย่อยสลายเส้นใยอาหรชนิดย่อยสลายได้ในของเหลวให้กลายเป็นกรดไขมันประเภทที่มีห่วงโซ่กรดไขมันสั้น (short chain fatty acids) เส้นใยอาหารประเภทนี้ รวมทั้งเส้นใยเพ็คทิน (pectin) ที่พบมากในแอปเปิ้ล แบร์รี่และผลไม้ตระกูลส้ม

คุณ Benjamin Marsland กล่าวว่ากรดไขมันห่วงโซ่สั้นจะทำปฏิกริยาต่อเนื้อเยื่อที่มีลักษณะเหมือนฟองน้ำที่อยู่ภายในของกระดูก ที่ผลิตเซลล์ภูมิคุ้มกันร่างกาย กรดไขมันห่วงโซ่สั้นที่ได้จากเส้นใยในผักและผลไม้ จะทำหน้าที่ช่วยควบคุมไม่ให้ระบะภูิมิคุ้มกันร่างกายตอบสนองต่อสิ่งเร้าเกินความพอดี เพราะหากภูมิต้านทานร่างกายตอบสนองต่อเชื้อโรคหรือปัจจัยเร้าเกินพอดี จะทำเกิดอาการอักเสบขึ้นได้ในร่างกาย

เพื่อศึกษาดูว่าเส้นใยอาหารมีอิทธิพลต่อการก่อเกิดโรคในอวัยวะต่างๆที่อยู่นอกระบบย่อยอาหารหรือไม่ อาทิ โรคหอบหืด คุณ Marsland และ ทีมนักวิจัยทำการศึกษาในหนูทดลองสองกลุ่ม กลุ่มแรกได้รับอาหารที่มีเส้นใยประเภทย่อยสลายได้ในของเหลวในปริมาณสูงเป็นเวลานานสองสัปดาห์ ในขณะที่หนูกลุ่มที่สองได้รับอาหารที่มีเส้นใยประเภทนี้ต่ำ

หลังจากนั้นทีมนักวิจัยให้หนูทดลองทั้งสองกลุ่มได้รับไรฝุ่น ที่เป็นสาเหตุหลักของโรคหอบหืด ซึ่งเป็นอาการอักเสบในปอดทำให้หลอดลมตีบและหายใจลำบาก

คุณ Marsland หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่าหนูทดลองที่ได้รับอาหารที่มีเส้นใยอาหารประเภทย่อยสลายได้ในของเหลวต่ำ ตอบสนองรุนแรงต่อไรฝุ่น โดยพบว่าแสดงอาการอักเสบในปอดและหลอดลมตีบลง ซึ่งเป็นอาการคล้ายๆกับอาการของโรคหอบหืดที่พบในคน

ส่วนในกลุ่มหนูทดลองที่ได้รับอาหารที่มีเส้นใยอาหารเพ็คทินในปริมาณสูง คุณ Marsland ชี้ว่าหนูกลุ่มนี้แสดงอาการตอบสนองของภูมิต้านทานต่อไรฝุ่นในระดับต่ำ

เขากล่าวกับผู้สื่อข่าววีโอเอว่าผลการศึกษานี้ชี้ว่ากรดไขมันชนิดห่วงโซ่สั้นที่เกิดจากการย่อยสลายอาหารที่มีเส้นใยแบบย่อยสลายได้โดยเเบคทีเรียในลำใส้ สามารถช่วยลดอาการหอบหืดลงได้และมีอิทธิพลในการควบคุมระบบภูมิต้านทานร่างกายให้ทำงานอย่างเป็นปกติ

เพื่อยืนยันผลการวิจัยนี้ ทีมนักวิจัยทำการทดลองฉีดกรดไขมันที่มีห่วงโซ่สั้นเข้าไปในหนูทดลองอีกกลุ่มหนึ่ง ปรากฏว่าหนูทดลองแสดงอาการอักเสบในปอดน้อยลง

รายงานผลการศึกษาผลดีของเส้นใยอาหารจากผักผลไม้ต่อการลดความเสี่ยงต่อโรคหอบหืดนี้ ตีพิมพ์ไปเมื่อเร็วๆ นี้ในวารสาร Nature Medicine
XS
SM
MD
LG