ลิ้งค์เชื่อมต่อ

‘โดรนนก’ งานวิจัยเปลี่ยนนกสตัฟฟ์เป็นอุปกรณ์เทคโนโลยี


Taxidermy bird drone
Taxidermy bird drone

เมื่อเราลองมองขึ้นไปบนท้องฟ้าแล้วเห็นฝูงนกบินผ่านไป จะมีใครบ้างไหมที่สงสัยว่า ในบรรดานกที่กำลังบินผ่านไปนั้น มีนกที่ถูกชุบชีวิตใหม่ร่วมบินอยู่ด้วยหรือไม่

ที่ผ่านมา อาจไม่เคยมีใครคิดถึงเรื่องนี้ แต่ในอนาคตอันใกล้ เรื่องนี้อาจเกิดขึ้นจริงได้แล้ว ด้วยความสามารถของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย New Mexico Tech ที่ได้ใช้วิธีที่แหวกแนวมาพัฒนางานวิจัยเพื่อการเฝ้าสังเกตการณ์สัตว์ป่า

สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้เดินทางไปยังเมืองโซคอร์โร รัฐนิวเม็กซิโก เพื่อพูดคุยกับ ดร. มอสตาฟา ฮัสซานาเลียน อาจารย์ด้านวิศวกรรมเครื่องกล ซึ่งเป็นผู้นำโครงการใหม่ที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งก็คือ การใช้นกที่ถูกสตัฟฟ์ไว้มาดัดแปลงเป็นโดรน

Brendn Herkenhoff, PhD student at New Mexico Tech, is preparing taxidermy bird.
Brendn Herkenhoff, PhD student at New Mexico Tech, is preparing taxidermy bird.

ดร. ฮัสซานาเลียน สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท 2 ใบที่เกี่ยวกับการพัฒนาเครื่องโดรนแบบมีปีกกระพือ ที่ใช้วัสดุเทียมเป็นส่วนประกอบ แต่เมื่อเขาพบว่า มันไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับนกจริง จึงตัดสินใจมอบชีวิตใหม่ให้กับนกที่ตายแล้ว และเปลี่ยนซากนกให้กลายเป็นโดรน

Dr. Mostafa Hassanalian, New Mexico Tech, with fake bird drone
Dr. Mostafa Hassanalian, New Mexico Tech, with fake bird drone

ดร.ฮัสซานาเลียน กล่าวว่า นกสตัฟฟ์ หรือนกที่ตายแล้วสามารถถูกนำมาปรับเปลี่ยนให้เป็นโดรนได้แล้ว โดยสิ่งเดียวที่ต้องทำให้ซากนกกลับมามีชีวิตก็คือ การออกแบบกลไกใส่ในร่างของพวกมันที่มีส่วนประกอบทุกอย่างครบอยู่แล้วทั้งหาง ปีก หัวและตัว ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นกระบวนการวิศวกรรมย้อนรอยกลับนั่นเอง

ในการพัฒนาโครงการนี้ กลุ่มนักวิจัยที่นำทีมโดย ดร.ฮัสซานาเลียน ร่วมกันคำนวณน้ำหนัก ความถี่ และมุมในการกระพือปีกของนก ในขณะที่มันยังมีชีวิตอยู่ เพื่อจำลองสิ่งที่คล้ายกันในรูปแบบของโดรน

และเพราะนกที่ถูกสตัฟฟ์ไว้และถูกเปลี่ยนเป็นโดรนยังไม่สามารถบินร่วมฝูงกับนกตามธรรมชาติ ทีมวิศวกรจึงทำการทดลองสิ่งประดิษฐ์นี้ภายในกรง โดยการทดลองเช่นนี้จะทำให้พวกเขาสามารถศึกษาการจัดเรียงตัว การบิน รวมถึงการอพยพของฝูงนกได้

Fake bird drone
Fake bird drone

ทั้งนี้ การพัฒนาซากนกให้กลายมาเป็นอุปกรณ์การบินไร้คนขับนี้ไม่ต่างกับการพัฒนางานของอุตสาหกรรมการบิน และดร.ฮัสซานาเลียน อธิบายว่า "ถ้าเรารู้วิธีที่นกจัดการพลังงานของพวกมัน เราสามารถนำสิ่งนี้ไปใช้ในอุตสาหกรรมการบินในอนาคต เพื่อประหยัดพลังงานและน้ำมันมากขึ้นได้"

เบรนเดน เฮอร์เคนฮอฟ นักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย New Mexico Tech คือหนึ่งในผู้ร่วมโครงการวิจัยนี้และมุ่งเน้นการวิจัยที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติไปที่การใช้สีและประสิทธิภาพการบินสำหรับโดรนและเครื่องบินต่างๆ

ในขณะที่ผู้คนมักจะมองว่า สีของนกเป็นส่วนหนึ่งของวิธีดึงดูดคู่ครอง หรือเป็นสิ่งที่ใช้พรางตัว แต่นักศึกษาปริญญาเอกคนนี้ชี้ว่า สีของนกมีผลต่อประสิทธิภาพการบินเช่นกัน

Brendn Herkenhoff, PhD student at New Mexico Tech
Brendn Herkenhoff, PhD student at New Mexico Tech

เฮอร์เคนฮอฟ อธิบายว่า "เราทำการทดลองแล้วและสรุปความได้ว่า สำหรับเครื่องบินปีกคงที่ (ไม่สามารถพับได้) การใช้สีบางสีสามารถเปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพการบินได้ และเราก็เชื่อว่า (ทฤษฎีนี้)ก็ใช้ได้กับนกเช่นกัน"

การทดลองต่าง ๆ โดยนักศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ช่วยให้ ดร.ฮัสซานาเลียน สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพของโดรนที่สร้างมาจากนกที่ถูกสตัฟฟ์ไว้เพื่อให้สามารถบินได้นานขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดี ขณะที่ เทคโนโลยีนี้น่าจะมีประโยชน์การใช้งานได้อย่างมาก ประเด็นการใช้โดรนก็ยังก่อให้เกิดความกังวลในเรื่องความเป็นส่วนตัวของประชาชน ซึ่งผู้นำของการวิจัยนี้ก็ตระหนักดีถึงประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะมีกลุ่มเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิ์ความเป็นส่วนตัวแสดงความกังวลว่า เทคโนโลยีโดรนอาจถูกนำมาใช้สำหรับการตรวจสอบทางทหารหรือแม้แต่การบังคับใช้ด้านกฎหมาย

Dr. Mostafa Hassanalian, New Mexico Tech, working with a student on taxidermy bird drone
Dr. Mostafa Hassanalian, New Mexico Tech, working with a student on taxidermy bird drone

ดร. ฮัสซานาเลียน ซึ่งเข้าใจถึงความกังวลด้านนี้กล่าวว่า "เราไม่สามารถปฏิเสธว่า การใช้งานเทคโนโลยีนี้อาจถูกนำไปใช้ในงานทางทหาร แต่สิ่งที่เรามุ่งเน้นคือ การใช้งานสำหรับพลเรือน โดยเฉพาะเพื่อทำความเข้าใจชีวิตสัตว์ป่า รวมถึงการเฝ้าติดตามนก”

อาจารย์ท่านนี้เผยด้วยว่า ตัวเขาและทีมงานจะดำเนินโครงการนี้ต่อไปอีก 2 ปี โดยขั้นตอนถัดไปคือ การหาวิธีที่จะทำให้โดรนบินได้นานขึ้น จากที่ปัจจุบัน โดรนต้นแบบที่สร้างจากนกที่ถูกสตัฟฟ์ไว้สามารถบินได้เพียงแค่ 10 ถึง 20 นาทีเท่านั้น

  • ที่มา: รอยเตอร์

XS
SM
MD
LG