หลังการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ที่นครมินนีแอโปลิส ซึ่งตามมาด้วยการประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิวทั่วประเทศ ตอนนี้อเมริกากำลังเผชิญกับการเรียกร้องให้ยกเลิกสัญลักษณ์ของการเหยียดผิวและการใช้แรงงานทาสในอดีต ซึ่งเป็นสาเหตุนำไปสู่การทำสงครามในสหรัฐ หรือ Civil War ระหว่างรัฐทางเหนือกับรัฐทางใต้ 13 รัฐ และลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ของกลุ่มรัฐดังกล่าวที่เรียกกันว่า Confederacy เมื่อราว 160 ปีที่แล้ว
สัญลักษณ์ของการครอบงำจากคนผิวขาวที่กำลังตกเป็นเป้าถูกรื้อถอนหรือถูกยกเลิกในขณะนี้ มีตั้งแต่รูปปั้นของ Jefferson Davis อดีตประธานาธิบดีของกลุ่มรัฐฝ่ายใต้ และรูปปั้นของนายพล Robert E. Lee ผู้บัญชาการกองทัพฝ่ายใต้
ไปจนถึงกรณีที่ NASCAR สมาคมรถแข่งอาชีพของสหรัฐฯ ซึ่งมีพื้นฐานผูกพันอยู่กับรัฐทางใต้มายาวนาน ได้ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าจะเลิกใช้ธงสัญลักษณ์ของรัฐฝ่ายใต้หรือที่เรียกกันว่า confederate flag ที่มีพื้นสีแดงและมีรูปกากบาทสีน้ำเงินซึ่งประกอบด้วยดาว 13 ดวง อันเป็นตัวแทนของกลุ่มรัฐทางใต้ในยุคค้าทาส
รวมทั้งการที่ HBO ได้ประกาศถอดภาพยนตร์คลาสสิคเรื่อง Gone With the Wind ซึ่งเคยได้รับรางวัลออสก้าเมื่อปี พ.ศ. 2482 ออกจากรายการ โดยให้เหตุผลว่า ภาพยนตร์เก่าเรื่องนี้สื่อถึงเรื่องการแบ่งแยกผิวและชนชั้นในอเมริกา เป็นต้น
นอกจากนั้น เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมายังมีการลงมติในวุฒิสภาสหรัฐที่จะให้กระทรวงกลาโหมเปลี่ยนชื่อและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ของการแบ่งแยกและเหยียดผิวโดยรัฐฝ่ายใต้ในอดีต ออกจากที่ตั้งทางทหารของสหรัฐฯ เช่น การเสนอให้เปลี่ยนชื่อค่ายทหาร Fort Bragg, Fort Hood และ Fort Lee ซึ่งเชื่อมโยงกับบุคคลหรือเหตุการณ์แบ่งแยกผิวในอดีต เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศว่า ตนจะใช้สิทธิยับยั้งร่างกฏหมายฉบับนี้หากส่งมาถึงตน และโฆษกทำเนียบขาวก็ให้เหตุผลจากข้อความทวีตของประธานาธิบดีทรัมป์ว่า ชื่อและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ในค่ายทหารเหล่านี้ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของมรดกตกทอดอันยิ่งใหญ่ของสหรัฐฯ ในเรื่องชัยชนะและเสรีภาพ
ในขณะที่ผู้นำของคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน กล่าวตำหนิว่า รูปปั้นรวมทั้งสัญลักษณ์ต่าง ๆ ของรัฐฝ่ายใต้ในอดีต ซึ่งยังคงเห็นได้ในปัจจุบัน เป็นเครื่องหมายหรือตัวแทนของการแบ่งแยกในสังคม รวมทั้งการมีฐานะเหนือกว่าของคนผิวขาวนั้น ตัวแทนของสมาคมลูกหลานทหารผ่านศึกของรัฐฝ่ายใต้ก็โต้ว่า กระแสต่อต้านสัญลักษณ์ของกลุ่มรัฐฝ่ายใต้หรือ Confederacy นี้ เป็นความพยายามเพื่อทำลายสายใยของหลักการและความถูกต้องทางศีลธรรมในสังคม โดยเปรียบเทียบความพยายามโจมตีและทำลายสัญลักษณ์ดังกล่าวว่า เหมือนกับสิ่งที่พวกก่อจลาจลและผู้เข้าปล้นขโมยข้าวของได้กระทำลงไป
อาจารย์เจมส์ เดวิสัน ฮันเตอร์ ผู้สอนวิชาสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเวอร์จิเนียกล่าวว่า การถกเถียงเรื่องสัญลักษณ์ของกลุ่มรัฐฝ่ายใต้ในอดีตที่ยังหลงเหลือให้เห็นได้ในปัจจุบันนี้ เป็นตัวแทนของความขัดแย้งเรื่องแนวคิดและค่านิยมของสาธารณชนอเมริกัน
และว่า ถึงแม้คำประกาศอิสรภาพของสหรัฐฯ เมื่อปี ค.ศ. 1776 จะระบุว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียมกันก็ตาม แต่ประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ได้แสดงว่าความเสมอภาคดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นกับคนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนอเมริกันผิวดำ
และขณะที่ผลการสำรวจความเห็นของมหาวิทยาลัย Monmouth แสดงว่า 76% ของคนอเมริกันในปัจจุบัน เชื่อว่า การแบ่งแยกปฏิบัติต่อคนต่างผิวเป็นปัญหาใหญ่นั้น อาจารย์แบรนด์ดอน เบิร์ด ผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์คนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ที่มหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ ตั้งข้อสังเกตว่า ประธานาธิบดีทรัมป์มองเรื่องนี้ว่าเป็นประเด็นหาเสียงที่จะเป็นประโยชน์ต่อตนในการเลือกตั้ง และกำลังใช้กลยุทธ์ที่เรียกกันว่า Souther Strategy เพื่อระดมความสนับสนุนทางการเมืองจากกลุ่มคนผิวขาวในรัฐทางใต้
อย่างไรก็ตาม อาจารย์เบิร์ด กล่าวว่า กระแสการคัดค้านของคนอเมริกันเรื่องการปฏิบัติต่อคนต่างผิวอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งเกิดขึ้นทั่วไปอย่างกว้างขวางในขณะนี้ อาจไม่ช่วยให้ประธานาธิบดีทรัมป์ได้เปรียบจากยุทธศาสตร์การเมืองเรื่องนี้เท่าใดนัก
แต่การเลือกข้างหรือการกำหนดจุดยืนของประธานาธิบดีทรัมป์ในสงครามด้านวัฒนธรรม มีโอกาสที่จะทำให้เกิดความแตกแยกและการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในบรรดาผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งของอเมริกาได้