รัสเซียสั่งปิดการจราจร หลังเกิด “สถานการณ์ฉุกเฉิน” ที่สะพานไครเมียที่เชื่อมระหว่างรัสเซียและคาบสมุทรไครเมียในช่วงเช้าวันจันทร์ ตามข้อมูลของเซอร์เกย์ อัคซโยนอฟ หัวหน้าฝ่ายบริหารแคว้นไครเมียที่แต่งตั้งโดยรัสเซีย
สำนักข่าวอาร์บีซี-ยูเครนรายงานว่า มีเสียงระเบิดดังขึ้นบนสะพาน ขณะที่บล็อกเกอร์สายทหารของรัสเซียระบุว่าเกิดเหตุโจมตีสะพานขึ้นสองครั้ง โดยรอยเตอร์ยังไม่สามารถยืนยันข้อมูลดังกล่าวได้ และทางยูเครนยังไม่มีความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สะพานไครเมียได้รับความเสียหายจากการระเบิด โดยทางการรัสเซียกล่าวว่า เหตุครั้งนี้เกิดจากรถบรรทุกระเบิดขณะข้ามสะพาน ทำให้มีผู้เสียชีวิตสามคน ขณะที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ระบุว่า เหตุครั้งนี้เป็น “การโจมตีก่อการร้าย” โดยหน่วยงานความมั่นคงของยูเครน และสั่งให้มีการโจมตีโต้กลับในหลายพื้นที่ของยูเครน รวมถึงที่กรุงเคียฟ
หลายเดือนต่อมา ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน สื่อโดยนัยว่ายูเครนเป็นผู้ก่อเหตุดังกล่าว โดยระบุว่า เหตุโจมตีสะพานไครเมียเป็นหนึ่งใน “ความสำเร็จ” ของกองทัพบกยูเครนเมื่อปีที่แล้ว
รอยเตอร์รวบรวมข้อมูลสำคัญของสะพานไครเมียดังต่อไปนี้
สะพานเชื่อมรัสเซีย – แคว้นไครเมีย
สะพานไครเมียมีความยาว 19 กิโลเมตร ข้ามผ่านช่องแคบเคิร์ช และเป็นเส้นทางคมนาคมโดยตรงเพียงเส้นทางเดียวที่เชื่อมระหว่างรัสเซียกับแคว้นไครเมียที่รัสเซียผนวกจากยูเครนเมื่อปี 2014
สะพานดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการหลักของ ปธน.ปูติน โดยเขาขับรถบรรทุกข้ามสะพานแห่งนี้ด้วยตนเองในพิธีเปิดสะพานเมื่อปี 2018
ทั้งนี้ สะพานไครเมียประกอบด้วยทั้งถนนสำหรับยานยนต์และทางรถไฟ มีเสาคอนกรีตรองรับ มีโครงสร้างเหล็กโค้งรองรับอยู่ด้านบน และถูกออกแบบมาให้เรือสามารถล่องผ่านใต้สะพานระหว่างทะเลดำและทะเลอะซอฟได้
มีรายงานว่า สะพานไครเมียถูกสร้างด้วยงบ 3,600 ล้านดอลลาร์ โดยบริษัทของอาร์คาดี โรเทนเบิร์ก คนใกล้ชิดและอดีตคู่เล่นยูโดของ ปธน.ปูติน
สะพานไครเมียสำคัญอย่างไร?
สะพานแห่งนี้เป็นเส้นทางสำคัญในการขนส่งน้ำมัน อาหาร และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ไปยังเมืองเซวาสโตโพลของแคว้นไครเมีย โดยเมืองดังกล่าวเป็นฐานทัพของกองเรือทะเลดำของรัสเซีย
สะพานไครเมียยังเป็นเส้นทางขนส่งปัจจัยที่สำคัญของกองกำลังรัสเซีย นับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว โดยรัสเซียส่งกองกำลังจากแคว้นไครเมีย เข้ายึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของแคว้นเคอร์ซอนทางตอนใต้ของยูเครน รวมถึงพื้นที่บางส่วนของแคว้นซาปอริซห์เชียด้วย
- ที่มา: รอยเตอร์