การศึกษาชิ้นล่าสุดจากออสเตรียเกี่ยวกับพฤติกรรมการสื่อสารของสัตว์ ได้ข้อสรุปว่า วัวนั้นจะแสดงอาการผ่อนคลายออกมามากกว่า ถ้าได้สื่อสารกับมนุษย์แบบซึ่งๆ หน้า ถ้าเทียบกับการฟังผ่านสื่อหรืออุปกรณ์ใดๆ
อันนิกา แลนจ์ นักศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยสัตวแพทย์ศาสตร์ ในกรุงเวียนนา ระบุในแถลงการณ์เกี่ยวกับผลการศึกษานี้ว่า งานวิจัยของเธอชี้ให้เห็นว่า การติดต่อสื่อสารและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับวัวนั้นจะไม่ค่อยได้ผลดี หากผ่านขั้นตอนหรือกระบวนการปรุงแต่งใดๆ
ก่อนหน้านี้ มีงานวิจัยที่สรุปว่า วัวนั้นเป็นสัตว์ที่มีความสามารถซับซ้อนในเรื่องการสื่อสาร ไม่ว่าจะกับวัวด้วยกันเองหรือกับมนุษย์ โดยนักวิทยาศาสตร์พบว่า วัวสามารถทำเสียงที่ต่างออกไปเพื่อแสดงอาการตื่นเต้น อาการเหงา หรืออาการตื่นตัวรออาหาร รวมทั้งสามารถส่งเสียงความถี่ต่ำเพื่อเรียกหาลูกๆ ได้ด้วย
นอกจากนั้น วัวยังสามารถตอบเสียงเรียกของคนได้ และลูกวัวยังสามารถเรียนรู้ว่าตัวเองชื่ออะไร รวมทั้งวิธีเรียกแบบเฉพาะที่ให้ไปกินนมได้ด้วย ขณะที่ การศึกษานี้ยังเชื่อว่า วัวชอบคนดูแลที่พูดจาไพเราะเสนาะหูมากกว่า ผู้ที่ชอบตะโกนใส่อีกต่างหาก
แต่ในงานค้นคว้าของ แลนจ์ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Psychology เพิ่มเติมให้ว่า วัวชอบที่จะฟังมนุษย์คุยด้วยซึ่งๆ หน้ามากกว่าด้วย
แลนจ์ บอกกับผู้สื่อข่าว ซีเอ็นเอ็น ว่า ทีมวิจัยได้ทำการสังเกตการณ์ วัวสาวจำนวน 28 ตัว ด้วยการเปรียบเทียบปฏิกิริยาของวัวขณะที่ใช้มือลูบตัว พร้อมๆ กับเล่นเสียงคนพูดด้วยน้ำเสียงผ่อนคลายที่บันทึกไว้ล่วงหน้า และการลูบตัวขณะที่มีคนพูดกับวัวซึ่งๆ หน้าด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน โดยผลที่ออกมาคือ วัวที่เข้าร่วมโครงการมีลักษณะผ่อนคลายและชอบการมีปฏิสัมพันธ์กับคน จากท่าทางการยืดคอออกมา เหมือนเช่นเวลาที่วัวทำความสะอาดตัวให้กันและกัน
สัญญาณของอาการผ่อนคลายของวัวอีกอย่างที่ทีมวิจัยพบ คือ ตำแหน่งของหู ซึ่งถ้าลู่ตกลงมาต่ำจะหมายถึงสถานะผ่อนคลายนั่นเอง
แต่สิ่งที่งานวิจัยนี้ค้นพบเพิ่มขึ้นก็คือ สัญญาณทั้งทางพฤติกรรมและทางสรีระของวัวที่เปลี่ยนไป และชี้ให้เห็นว่า แม้วัวจะมีปฏิกิริยาในทางบวกไม่ว่าจะได้ยินเสียงของคนผ่านเครื่องอัดหรือเมื่อได้ฟังตัวต่อตัว อัตราการเต้นของหัวใจของวัวจะต่ำกว่า และตัวของวัวนั้นแสดงอาการผ่อนคลายนานกว่าหลังได้ฟังคนพูดด้วยแบบสดๆ
แลนจ์ กล่าวด้วยว่า งานวิจัยชิ้นนี้น่าจะช่วยให้พัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างวัวและมนุษย์ดีขึ้น โดยเฉพาะในด้านสวัสดิภาพของสัตว์ ซึ่งแปลว่า หากวัวมีความสบายใจ ผลผลิตที่ได้มาอาจจะมีคุณภาพและปริมาณที่เพิ่มขึ้น ดังเช่นที่ งานวิจัยบางชิ้นเคยระบุว่า วัวที่ไม่รู้สึกกลัวมนุษย์จะผลิตน้ำนมมากกว่าวัวที่กลัวคน
แลนจ์ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า เธอหวังว่า งานวิจัยของเธอจะทำให้เกษตรกรหรือผู้ที่อยู่ในแวดวงปศุสัตว์ดูแลวัวของตนด้วยความอ่อนโยนมากขึ้น และใช้การพูดจาที่ไพเราะหูมากขึ้นในอนาคต เพื่อให้ประโยชน์ที่ได้ของทั้งสองฝ่ายเพิ่มตามขึ้นไปนั่นเอง