การศึกษาครั้งใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS ONE ระบุว่าผู้คนที่ซื้อกระดาษชำระด้วยความตื่นตระหนกและต้องการที่จะซื้อเพื่อกักตุนมักเป็นผู้ที่มีลักษณะนิสัยที่มีความพิถีพิถันและระมัดระวัง
Lisa Garbe นักศึกษาระดับปริญญาเอกภาควิชารัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย University of St. Gallen ในสวิตเซอร์แลนด์กับนักวิจัยอีกสองคนศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมการซื้อกับประเภทของบุคลิกภาพโดยสำรวจคนวัยผู้ใหญ่ 1,029 คนจาก 35 ประเทศทั้งในสหรัฐและยุโรป และตั้งคำถามเกี่ยวกับการซื้อกระดาษชำระครั้งล่าสุดในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส นักวิจัยกล่าวว่าไม่ได้มีทฤษฎีใดๆ อยู่ในใจเพียงแต่ต้องการสำรวจปัจจัยทางบุคลิกภาพเท่านั้น
นักวิจัยรวบรวมคำตอบของผู้เข้าร่วมใส่ในแบบทดสอบการประเมินบุคลิกภาพที่เรียกว่า HEXACO Inventory แบบทดสอบนี้ใช้ในการทำแผนที่บุคลิกภาพของคนในวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน โดยประเมินลักษณะของผู้คนไว้หกด้าน คือด้านความซื่อสัตย์สุจริต-อ่อนน้อมถ่อมตน การมีอารมณ์หวั่นไหว การแสดงออกอย่างเปิดเผย การมักเห็นด้วยและประนีประนอม การมีสติรอบคอบระมัดระวัง และการเปิดรับประสบการณ์
แบบทดสอบดังกล่าวใช้บุคลิกด้าน "การมีสติรอบคอบระมัดระวัง " เพื่อครอบคลุมลักษณะนิสัยต่างๆ เช่นความมีระเบียบ ความขยันหมั่นเพียร ความสมบูรณ์แบบ และความรอบคอบ เป็นต้น
นักวิจัยพบว่าคนที่มีบุคลิกภาพอยู่ในประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนที่ซื้อกระดาษชำระด้วยความตื่นตระหนกหรือเพื่อการกักตุน เพราะคนเหล่านี้มักชอบวางแผนล่วงหน้าและเตรียมการณ์ล่วงหน้ามากเกินไป
ในส่วนท้ายสุดของการศึกษา นักวิจัยถามผู้ทำแบบทดสอบว่ารู้สึกว่าถูกคุกคามโดยโคโรนาไวรัสหรือไม่? และผู้ที่ตอบว่ารู้สึกถูกคุกคามจาก Covid-19 มากที่สุดก็มีแนวโน้มที่จะเป็นกลุ่มคนที่ชอบกักตุนกระดาษชำระด้วย โดยนักวิจัยกล่าวว่าเรื่องนี้เป็นการค้นพบที่สำคัญที่สุด เพราะการที่คนเรารู้สึกว่าถูกคุกคามจากบางสิ่งบางอย่างที่ไม่รู้หรือควบคุมไม่ได้จะทำให้มีพฤติกรรมที่ไร้เหตุผล ซึ่งเป็นความจริงของมนุษย์
นักจิตวิทยา Steven Taylor ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง "The Psychology of Pandemics" กล่าวว่ามนุษย์คือสัตว์สังคม และเมื่อเราเห็นว่าคนรอบข้างในซื้อของด้วยความตื่นตระหนกก็ทำให้เกิดความกลัวไปด้วยเหมือนกับเป็นโรคติดต่อ
อย่างไรก็ตามด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์แล้ว การซื้อหาเจลทำความสะอาดมือ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่างๆ ปรอทวัดไข้ และหน้ากากอนามัย อาจเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล
แต่สำหรับกระดาษชำระนั้น คุณ Garbe และทีมวิจัยของเธอไม่สามารถระบุชี้สาเหตุที่ชัดเจนของเรื่องนี้ได้ แต่บอกได้ว่าการเกิดโรคระบาดใหญ่อาจทำให้ผู้คนมีพฤติกรรมที่ไร้เหตุผล ซึ่งข้อคิดที่สำคัญของเรื่องนี้ก็คือในขณะที่เราต้องตัดสินใจตลอดเวลาวันละหลายสิบครั้งในเรื่องต่างๆ นั้น ในสถานการณ์วิกฤตหรือท่ามกลางความไม่แน่นอน หากมีการสื่อสารที่ชัดเจนและมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ คุณภาพของการสื่อสารดังกล่าวจะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจได้อย่างสมเหตุสมผลมากขึ้นและถูกต้องยิ่งขึ้นนั่นเอง