ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สหภาพยุโรปส่อเค้าขัดแย้งมาตรการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19


A woman and a man wearing face masks walk past a shop in Leipzig, eastern Germany
A woman and a man wearing face masks walk past a shop in Leipzig, eastern Germany
please wait

No media source currently available

0:00 0:06:00 0:00

การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของหลายประเทศในสหภาพยุโรปกำลังหดตัวซึ่งเรื่องนี้ก็นับเป็นปัญหาซ้ำสองจากการขาดดุลงบประมาณและปัญหาว่างงานที่มีมาก่อนแล้ว

นอกจากนั้นฐานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน การไม่สนใจต่อคำเรียกร้องที่ให้ประเทศร่ำรวยช่วยเหลือประเทศที่ยากจนกว่าเพื่อรักษาความเป็นปึกแผ่นของสหภาพยุโรปไว้ รวมทั้งปัจจัยผลักดันทางการเมืองในแต่ละประเทศก็ไม่ได้ช่วยให้ความพยายามแก้ปัญหาโรคโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปในช่วงหลังการระบาดง่ายขึ้นแต่อย่างใด

เดิมทีนั้นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมีความขัดแย้งเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ นโยบายการป้องกันประเทศ และนโยบายผู้อพยพเข้าเมืองอยู่แล้ว และการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ก็ยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในหมู่ประเทศสมาชิกให้มากขึ้นเพราะขณะที่ประเทศซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจดีพออาจสามารถช่วยโอบอุ้มธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศของตน และผลที่จะตามมาก็คืออุตสาหกรรมในประเทศเหล่านี้จะอยู่ในฐานะได้เปรียบคู่แข่งในอีกหลายประเทศอื่นๆ ของสหภาพยุโรปนั้น เสียงเรียกร้องให้ประเทศซึ่งมีฐานะดีกว่าช่วยเหลือประเทศที่อ่อนด้อยทางเศรษฐกิจก็ถูกละเลยเช่นกัน

ผู้นำของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปซึ่งอยู่ทางใต้ได้เตือนว่าความผูกพันของสมาชิกซึ่งช่วยให้สหภาพยุโรปดำรงคงอยู่ได้อาจจะถูกบั่นทอนลง และนายกรัฐมนตรีจุสเซปเป้ คอนเต้ ของอิตาลีก็ถึงกับกล่าวว่าเอกภาพของสหภาพยุโรปจะตกอยู่ในอันตรายหากประเทศที่ร่ำรวยซึ่งอยู่ทางยุโรปตอนเหนือไม่สนใจช่วยเหลือประเทศที่ยากจนกว่าซึ่งส่วนใหญ่อยู่ทางตอนใต้ นอกจากนั้นผลการสำรวจในอิตาลีเมื่อต้นเดือนนี้ก็แสดงว่าขณะนี้มีชาวอิตาลีถึง 44% ที่บอกว่าตนพร้อมจะเดินตามรอยอังกฤษเพื่อแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป โดยตัวเลขดังกล่าวสูงขึ้นมากจากระดับ 9% เมื่อ 20 ปีที่แล้วซึ่งอิตาลีตัดสินใจสละเงินสกุลลีราของตนและหันมาใช้เงินสกุลยูโรแทน

แต่ขณะที่การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 เพิ่มแรงกดดันและสร้างความเสี่ยงต่อเอกภาพของสหภาพยุโรปนั้น ในสหรัฐเอง สกอต แอนดรูว์ ผู้สื่อข่าวของ CNN ก็มีรายงานซึ่งตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับค่านิยมแบบอเมริกันที่มีส่วนกำหนดทิศทางและรูปแบบการรับมือกับปัญหาโควิด-19 เช่นกัน โดยในรายงานดังกล่าวแอนเดรีย แคมเบลผู้สอนวิชารัฐศาสตร์ที่สถาบันเทคโนโลยีเอ็มไอทีชี้ว่าเหตุผลเรื่องหนึ่งก็คือการที่คนอเมริกันมักให้ค่าความสำคัญกับความเป็นปัจเจกบุคคลซึ่งเน้นเรื่องเสรีภาพส่วนบุคคลเป็นหลัก และท่ามกลางความแตกแยกทางการเมืองในขณะนี้ อาจารย์แอนเดรีย แคมเบลบอกว่าสมาชิกของพรรครีพับลิกันกับพรรคเดโมแครตต่างก็มองแต่ละฝ่ายว่าเป็นศัตรูแทนที่จะมองเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ว่าเป็นศัตรูร่วมกัน

เหตุผลประการที่สองซึ่งอาจจะช่วยอธิบายลักษณะของการรับมือกับปัญหาโควิด-19 ในสหรัฐตามการวิเคราะห์ของอาจารย์เดวิด รอสเนอร์ นักสังคมวิทยาของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียก็คือการให้ความสำคัญกับการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นและการไม่ยอมรับคำสั่งหรือการปกครองจากรัฐบาลกลางอันเป็นผลให้แต่ละรัฐแต่ละพื้นที่ของสหรัฐมีการตัดสินใจและวิธีปฏิบัติเพื่อรับมือกับการระบาดของโควิด-19 ในลักษณะที่ตัวเองเห็นว่าเหมาะสมโดยอาจารย์รอสเนอร์เสริมด้วยว่าคนอเมริกันส่วนหนึ่งมีความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ดังตัวอย่างที่จะเห็นได้จากเรื่องการต่อต้านวัคซีนและการไม่เห็นด้วยกับปัญหาโลกร้อนว่าเกิดขึ้นจริงซึ่งก็ยิ่งทำให้ความพยายามให้แนวทางปฏิบัติต่อประชาชนจากวงการแพทย์เป็นเรื่องที่ยากขึ้นไปอีก

อาจารย์แอนเดรีย แคมเบลจากสถาบันเอ็มไอทีเสริมด้วยว่าคนอเมริกันมักไม่ชอบให้ใครมาสั่งสอนและเชื่อว่าตนรู้ดีกว่าคนอื่น ดังนั้นค่านิยมนี้จึงช่วยอธิบายได้ว่าทำไมสหรัฐกับเกาหลีใต้ซึ่งเริ่มมีผู้ติดเชื้อในช่วงแรกใกล้เคียงกันจึงมีจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตแตกต่างกันมากในขณะนี้

ส่วนอาจารย์แอน เคลเลอร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียวิทยาเขตเบิร์กลีย์ชี้ว่าแนวคิดแบบทุนนิยมก็มีส่วนทำให้คนอเมริกันมองปัญหาวิกฤติครั้งนี้ในแง่ของการวิเคราะห์ต้นทุนและผลตอบแทน กล่าวคือในขณะที่ต้นทุนคือวิถีชีวิตที่ถูกจำกัดลงนั้นผลประโยชน์ตอบแทนคือเรื่องสุขภาพทั้งของตนเองและของคนอื่นซึ่งเราอาจจะไม่รู้จักหรือมองไม่เห็น และเนื่องจากต้นทุนเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและเห็นได้ชัดแต่ประโยชน์ตอบแทนซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมโดยส่วนรวมอาจจะอยู่ไกลตัวและวัดค่าได้ยาก ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่คนจำนวนไม่น้อยมักเลือกการกลับไปใช้ชีวิตตามรูปแบบที่ตนต้องการมากกว่าการยอมอดทนเพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพของคนส่วนใหญ่ที่ตนไม่รู้จัก

อย่างไรก็ตามนักวิชาการผู้ศึกษาเรื่องค่านิยมและแนวคิดในสังคมอเมริกันที่มีผลต่อการรับมือกับปัญหาโควิด-19 ในสหรัฐแสดงความหวังว่าหากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ยังสร้างปัญหาต่อไปอีกสามหรือสี่เดือน วิกฤติด้านสุขภาพดังกล่าวก็อาจช่วยให้คนอเมริกันหันมาทบทวนสิ่งที่ทำและร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อเอาชนะปัญหาท้าทายสำคัญครั้งนี้ได้ในที่สุด

XS
SM
MD
LG