ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ออกแถลงการณ์ที่ถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ของสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งผู้นำประเทศเมื่อวันที่ 20 มกราคม โดยมีประเด็นสำคัญคือ การระลึกวาระครบรอบ 1 ปี การระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ พร้อมเรียกร้องให้ประชาชนชาวอเมริกันร่วมมือกันต่อสู้กับความท้าทายที่ยังรออยู่ข้างหน้าจนถึงที่สุด
นับตั้งแต่องค์การอนามัยโลกประกาศว่า โควิด-19 คือวิกฤตการระบาดใหญ่ทั่วโลกเมื่อ 1 ปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 2.6 ล้านคน โดยสัดส่วนผู้เสียชีวิตที่สูงที่สุดยังคงอยู่ในสหรัฐฯ ที่กว่า 530,000 คน
และในระหว่างการแถลงการณ์เมื่อคืนวันพฤหัสบดี ตามเวลาในสหรัฐฯ ปธน.ไบเดน ระบุว่า ชาวอเมริกันนั้นได้สูญเสียบางอย่างไปในวิกฤตนี้ อันเป็นความทุกข์และความเจ็บปวดที่ทุกคนร่วมรู้สึกพร้อมๆ กัน รวมทั้ง การเสียสละของทุกคน สะท้อนให้เห็นถึง 1 ปีที่ผ่านไปนั้นเต็มไปด้วยการจากไปของผู้คนและการสูญเสียของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่
การแถลงการณ์ครั้งนี้ ยังจัดขึ้นในวันครบรอบ 50 วันของการปฏิบัติหน้าที่ผู้นำสหรัฐฯ ของปธน.ไบเดน ที่ใช้โอกาสนี้นำเสนอแผนงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะโคโรนาไวรัส ซึ่งรวมถึง ความมุ่งมั่นที่จะทำการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้กับประชาชนในสหรัฐฯ ให้ได้มากกว่า 100 ล้านเข็มภายใน 100 วันแรกของการทำงาน ตามที่ประกาศไว้ก่อนหน้าด้วย โดยประกาศย้ำว่า รัฐบาลจะสามารถฉีดวัคซีนได้ถึง 100 ล้านเข็มภายใน 60 วันของการเริ่มปฏิบัติงานอย่างแน่นอนแล้ว “ซึ่งเป็นความสำเร็จที่ไม่มีประเทศใดในโลกเคยทำได้มาก่อน”
ปธน.ไบเดน ยังกล่าวด้วยว่า ตนได้สั่งให้ทางการทุกรัฐจัดการให้ชาวอเมริกันที่เป็นผู้ใหญ่ได้รับวัคซีนครบทุกคนภายในวันที่ 1 พฤษภาคม แม้ว่าเป้าหมายนี้จะมาพร้อมกับความท้าทายหลายประการ อาทิ ความลังเลในหมู่ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่จะรับวัคซีน และการที่รัฐบาลในบางรัฐไม่ใส่ใจที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำด้านการควบคุมการระบาด เช่น รัฐเท็กซัส ซึ่งเพิ่งยกเลิกคำสั่งบังคับให้ประชาชนต้องสวมหน้ากากเมื่อเร็วๆ นี้
ทั้งนี้ ปธน.ไบเดน ย้ำว่า ขณะที่หน้ากากนั้นคือมาตรการอันง่ายที่สุดที่ทุกคนสามารถทำตามเพื่อรักษาชีวิต “แต่บางครั้ง เรื่องนี้กลับกลายมาเป็นประเด็นที่ทำให้ผู้คนแตกแยก และทางการบางรัฐกลับเอามาเป็นเรื่องโต้แย้งระหว่างกัน แทนที่จะร่วมมือกัน”
นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า มุมมองเกี่ยวกับวัคซีนและมาตรการด้านสาธารณสุขที่แบ่งประชาชนออกเป็น 2 ฝ่ายนี้ เกิดขึ้นมาเพราะเรื่องการเมืองล้วนๆ โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่
แคเธอรีน เบคเคอร์ จากคณะนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก กล่าวว่า “ประชาชนนั้นได้รับข่าวสารที่มีความขัดแย้งในตนเองเกี่ยวกับประเด็นด้านสาธารณสุข ขณะที่บรรยากาศในสังคมนั้นเกิดการแบ่งขั้วความคิดจนนำไปสู่การขาดศรัทธาในระบบสาธารณสุขและวิทยาศาสตร์”
เบคเคอร์ เสริมว่า แม้ทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ หากหันไปดูข้อมูลและข่าวสารที่แย้งกันเอง แต่สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ คือ ผลกระทบด้านลบจากสถานการณ์นี้จะอยู่ในสังคมไปอีกนานเท่านาน
อย่างไรก็ตาม หลังปธน.ไบเดน ลงนามเพื่อให้กฎหมายแผนช่วยเหลือชาวอเมริกันจากพิษโควิด-19 มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันพฤหัสบดี ผู้นำสหรัฐฯ ได้เตรียมตัวที่จะเดินทางไปหลายพื้นที่ของประเทศในสัปดาห์หน้า เพื่อประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายใหม่นี้ ภายใต้ชื่อแผนการเดินทาง Help is Here หรือ “ความช่วยเหลือนั้นมาถึงแล้ว”