ผลสำรวจเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านปัญหาคอร์รัปชันจากหน่วยงาน Transparency International พบว่า 95% ของประเทศในการสำรวจทั่วโลกแทบไม่มีความคืบหน้าในการต่อต้านการทุจริต ท่ามกลางความขัดแย้งทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
เดเลีย เฟอร์เรียรา รูบิโอ ประธานหน่วยงาน Transparency International ระบุในรายงานว่า “การคอร์รัปชันทำให้โลกเป็นสถานที่อันตรายมากขึ้น เพราะรัฐบาลล้มเหลวในการต่อต้าน พวกเขาเติมเชื้อไฟให้สถานการณ์รุนแรงและความขัดแย้งที่ยกระดับขึ้นในปัจจุบัน – และเป็นอันตรายกับทุกคนในทุกหนทุกแห่น หนทางเดียวที่จะหลุดพ้นได้คือรัฐบาลจะต้องทำงานหนักเพื่อขุดรากถอนโคนการทุจริตในทุกระดับ เพื่อให้แน่ใจว่ารัฐบาลทำงานเพื่อประชาชน ไม่ใช่แค่ชนชั้นนำบางคนเท่านั้น”
รายงาน Corruption Perceptions Index หรือ CPI ของหน่วยงาน Transparency International ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร พบว่าค่าเฉลี่ย CPI อยู่ที่ระดับ 43 ไม่เปลี่ยนแปลงมาเป็นเวลา 11 ปีแล้ว และราว 2 ใน 3 ของประเทศในการสำรวจ มีปัญหาการทุจริตอย่างรุนแรง ด้วยดัชนีที่ต่ำกว่า 50
ในปีนี้ เดนมาร์ก ครองอันดับ 1 โลก ตามมาด้วยฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ ครองอันดับ 2 ร่วม นอร์เวย์เป็นอันดับ 4 และสิงคโปร์ครองอันดับ 5 โลก ขณะที่โซมาเลียได้อันดับสุดท้ายโลก รองมาเป็นซีเรียและซูดานใต้ เวเนซูเอลา และเยเมน
ส่วนกรณีของประเทศไทย กระเตื้องขึ้นจากค่าดัชนี 35 เมื่อปีก่อน มาเป็น 36 ในปีนี้ ขยับขึ้นมาจากอันดับ 110 มาอยู่ในอันดับ 101 โลกในปีนี้ โดยในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา (2012-2022) ไทยมีดัชนีอยู่ในกรอบ 35-35 มาโดยตลอด
ในรายงานยังพบว่า อังกฤษ กาตาร์ กัวเตมาลา ที่มีดัชนี CPI ต่ำเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ และยังจับตาสถานการณ์การคอร์รัปชันในบราซิล ศรีลังกา ยูเครน อย่างใกล้ชิด
รายงาน Corruption Perceptions Index หรือ CPI ของหน่วยงาน Transparency International จัดอันดับประเทศและดินแดนต่างๆ 180 แห่งทั่วโลกจากระดับความรู้สึกเกี่ยวกับหรือการมองปัญหาการทุจริตในภาครัฐของแต่ละประเทศโดยอาศัยข้อมูลจากแหล่งภายนอก 13 แหล่ง อาทิ ธนาคารโลก บริษัทที่ปรึกษาและประเมินความเสี่ยง และจากหน่วยงานคลังสมอง
โดยการให้คะแนนในเรื่องนี้ตั้งแต่ 0 ซึ่งหมายถึงมีปัญหาคอร์รัปชั่นในระดับสูงไปจนถึงคะแนน 100 ซึ่งสะท้อนถึงความใสสะอาดในการทำงานของระบบการบริหารภาครัฐ และคะแนนดังกล่าวก็เป็นเครื่องสะท้อนความเห็นของผู้เชี่ยวชาญรวมทั้งจากผู้ประกอบธุรกิจด้วย
- ที่มา: วีโอเอและ Transparency International