นิธิพงศ์ พิทักษ์วงค์ เจ้าของร้านอาหารไทยเฮาส์ ที่เมืองเกเตอร์สเบิร์ก (Gaithersburg) รัฐแมริแลนด์ เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 จากคำสั่งในภาวะฉุกเฉิน แต่ก็กำลังพยายามหาทางและปรับตัวอย่างหนักเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไป
.. ไวรัสนี้มันก็คงจะยังไม่หายไป มันคงจะอยู่กับเรา แต่เราจะทำยังไงที่จะต้องอยู่กับมันให้ได้ อันนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องตระหนัก แล้วก็คิดว่าทำยังไงที่จะต้องอยู่กับสิ่งนี้ให้ได้ และผ่านไปให้ได้”นิธิพงศ์ พิทักษ์วงค์ เจ้าของร้านอาหาร 'ไทยเฮาส์' รัฐแมริแลนด์
โดยเฉพาะการที่ทางการประกาศห้ามลูกค้านั่งรับประทานอาหารในร้าน แต่ยังยกเว้นการสั่งอาหารไปรับประทานที่บ้านได้
ผู้ประกอบหลายแห่งเลือกที่จะปิดร้านอย่างไม่มีกำหนดเพื่อลดความเสี่ยงจากโรคระบาด แต่นิธิพงศ์ตัดสินใจเปิดร้านต่อ แต่จะรับออร์เดอร์ทางโทรศัทพ์ และออนไลน์เป็นหลัก ขณะเดียวกันก็พยายามสร้างความแตกต่างด้วยการเพิ่มมาตรการความปลอดภัยที่จำเป็นสำหรับการมารับอาหารที่ร้าน ที่ลูกค้าทุกคนต้องปฏิบัติตาม
“เราจะติดป้ายให้ลูกค้าได้เห็นว่านี่คือจุดเริ่มเข้าคิวเพื่อรับอาหารที่สั่งตั้งแต่หน้าร้าน โดยปฏิบัติตามแนวทางรักษาระยะห่างทางสังคม หรือ social distancing เราก็จะมีจุดกำหนดให้ลูกค้ายืนในกรณีที่มีคนเยอะ รักษาระยะ กรณีที่มีลูกค้ารับอาหารในร้านอยู่ ลูกค้า (ที่มาทีหลัง) ก็ควรระยืนรออย่างน้อยในระยะ 6 ฟุต (1.8 เมตร) จนกว่าคนก่อนหน้าจะรับอาหารเสร็จแล้วจึงเปิดประตูเข้าไปได้.." นิธิพงศ์ อธิบายมาตรการสำคัญเพื่อป้องกันโรคระบาดให้ "วีโอเอ ภาคภาษาไทย"
การนำมาตรการการป้องกันอย่างเข้มงวดมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดจุดต่อแถวของลูกค้าให้ห่างกันอย่างน้อย 6 ฟุตตามแนวทาง 'social distancing' การเปิดประตูให้ลูกค้าเข้าบริเวณสั่งอาหารทีละคนและพูดคุยผ่านกระจกเพื่อเลี่ยงการสัมผัสหรือติดต่อโดยตรง ห้ามผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในร้านหากไม่ผ่านการตรวจอุณหภูมิร่างกาย และทำความสะอาดเสื้อผ้า รวมทั้งสวมหน้ากากอนามัย
นอกจากนี้ยังกำชับในเรื่องความปลอดภัยและความรับผิดชอบต่อตัวเองเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อลูกค้ารวมทั้งพนักงานในร้านทุกคน
ณัฐพงศ์ ทองสุข พนักงานของร้านไทยเฮาส์ มีส่วนร่วมเสนอแนวทางและช่วยออกแบบการรับ-ส่งอาหารที่ปลอดภัยและช่วยสร้างความสบายใจมากขึ้นเพื่อในสภาวะการระบาด
ณัฐพงศ์ อยู่ในชุดป้องกันมิดชิด สวมหน้ากาก แว่นตา หมวก และถุงมือตลอดเวลาที่อยู่ในจุดบริการลูกค้าหน้าร้านที่มีหน้าต่างกระจกใสกั้น คอยรับและส่งออร์เดอร์ให้ลูกค้า
"เรามีมาตรการในการรักษาระยะห่างระหว่าวบุคคล ลดการคอนแทค หรือ ติดต่อระหว่างบุคคล เรามีการคุยผ่านมือถือที่ต่อกับลำโพงออกด้านนอก เพื่อพูดคุยกับลูกค้าผ่านหน้าต่าวกระจกกั้น เพื่อลดการคอนแทคให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อีกส่วนหนึ่งก็วางตำแหน่งกันเอง ว่าแต่ละคนจะทำหน้าที่อะไร รูปแบบไหน แต่ในอนาคตถ้าระยะเวลามันยาวออกไป เราอาจจะมีการออกแบบให้ลดการคอนแทคการส่งอาหารให้มากขึ้นไปอีก.."
ณัฐพงศ์ เล่าให้ วีโอเอ และย้ำว่า แนวทางนี้ช่วยให้เขาอุ่นใจมากขึ้นในสภาวการณ์แบบนี้
"เรารู้สึกปลอดภัยกับชีวิตมากขึ้น เพราะว่าเรายังไงก็ต้องดำเนินชีวิตไปทุกวัน ยังพอมีรายได้เข้ามาช่วยประทังครอบครัวไปในสภาวะแบบนี้...”ณัฐพงศ์ ทองสุข พนักงานของร้านไทยเฮาส์ รัฐแมริแลนด์
ขณะทีี่ นิธิพงศ์ บอกว่า การใช้มาตรการนีั้ทำให้ลูกค้าหลายคนประหลาดใจจนมีกระแสในแง่ลบจากลูกค้าบางคน
“ส่วนมากแรกๆ ลูกค้าก็จะตกใจ แต่ว่าสุดท้ายแล้วถ้าทุกคนไม่เจ็บไข้ได้ป่วย วันนี้สภาพเศรษฐกิจมันก็จะดีขึ้น สิ่งนั้นทุกคนเรารู้อยู่แล้ว อาจจะมีรีวิวแย่ๆบ้าง ไม่พอใจในสิ่งที่เราทำตรงนี้บ้าง อะไรบ้าง เหมือนกับว่าเป็นการกักลูกค้า รังเกียจลูกค้า อันนั้นก็สุดแล้วแต่ลูกค้ากลุ่มนั้น แต่ว่าเรามอบสิ่งดี ให้กับลูกค้า ก็คิดว่าน่าจะมีสิ่งที่ดีๆกลับมา..”
อย่างไรก๋็ตาม นิธิพงศ์เชื่อมั่นว่าแนวทางที่นำมาใช้ เป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบที่มีต่อตัวเองและส่วนรวมเพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการระบาด ขณะที่ลูกค้าหลายคน ยอมรับว่า ว่ามาตรการความปลอดภัยเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นในสภาวะที่ไม่ปกติ
“คือเราเข้าใจนะครับว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันทุกคนมีผลกระทบหมด แต่จะทำยังไงล่ะ ที่จะให้ลูกน้องหรือพนักงานในร้านปลอดภัยก่อน หนึ่งละ อย่างที่สอง ลูกค้าก็มีความมั่นใจว่าถ้าเขามารับออร์เดอร์ก็จะมีความปลอดภัย อันนี้มันสร้างความเชี่อมั่นระหว่างพนักงานในร้านและลูกค้าที่จะได้รับสินค้า เพราะฉะนั้นลูกค้าจะรู้เลยว่า เขาคงจะทำตาม(มาตรการ)ของซีดีซี (ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ -(CDC) นะ อาหารก็คงจะสะอาด รสชาติก็คงจะเหมือนเดิม แล้วเขาก็ยังสามารถทีจะมาซื้อของด้วยความมั่นใจว่า เขาจะไม่ติดโรคนี้.."
ขณะที่มีลูกค้าจำนวนไม่น้อยยอมรับว่ามาตรการความปลอดภัยเหล่านี้เป็นสิ่วจำเป็นในสภาวะการณ์ที่ไม่ปกติที่กำลังเกิดขึ้น
Tony Serra บอกว่า ประทับใจที่ทางร้านไทยเฮาส์แห่งนี้ นำมาตรการป้องกันต่างๆมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการแจกถุงมือป้องกัน และบริการผ้าเช็ดทำความสะอาด ซึ่งอย่างน้อยทุกร้านควรจะมีให้บริการ ขณะเดียวกันก็ดีใจก็ยังสามารถสั่งอาหารได้เป็นปกติ
เช่นเดียวกับ David Pugh ลูกค้าที่มารับอาหารบอกว่า ขอชื่นชมแนวทางที่ทางร้านนำมาใช้ และคิดว่าควรมีคนอื่นๆ นำไปปฏิบัติบ้างเช่นกัน ทั้งในเรื่องการดูแลลูกค้าที่จะช่วยให้ทุกคนปลอดภัย ซึ่งไม่ได้รบกวนอะไรผมเลย นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยอุดหนุนทางร้านในขณะที่ยังจะพอมีมีโอกาสทำได้ในขณะนี้
แม้จะมีรายได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของยอดขายในภาวะปกติ แต่การดำเนินธุรกิจของร้านก็จะยัง้เดินต่อไป ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะต้องมีทางออก ทั้งจากการปรับตัวหรือการเตรียมตัวที่จะต้องรับมือกับภาวะวิกฤตครั้งนี้ให้ได้
“สถานการณ์แบบนี้ ไม่มีใครในโลกอยากให้เกิดขึ้น เพราะมันเป็นโรคระบาด และทุกคนก็ไม้ได้เตรียมตัวตั้งรับในสถานการณ์แบบนี้เลย แล้วเป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับทุกคน ใหม่สำหรับรัฐบาล ใหม่สำหรับร้านอาหาร และธุรกิจทุกอย่างที่มีบนโลกใบนี้เลย และเราก็คงจะต้องคิดสรรหาวิธีการเพื่อที่จะอยู่กับมันให้ได้ แล้วก็ปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อม สภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ แล้วก็สิ่งที่จะอยู่ในอนาคต..
.. ไวรัสนี้มันก็คงจะยังไม่หายไป มันคงจะอยู่กับเรา แต่เราจะทำยังไงที่จะต้องอยู่กับมันให้ได้ อันนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องตระหนัก แล้วก็คิดว่าทำยังไงที่จะต้องอยู่กับสิ่งนี้ให้ได้ และผ่านไปให้ได้”
มาตรการการสั่งปิดการดำเนินธุรกิจ และสถานประกอบการต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ เพื่อรับมือกับการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กำลังสร้างผลกระทบวงกว้างต่อวิถีชีวิตผู้คน และเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันมาตราการป้องกันโรคเหล่านี้ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นจนกว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดที่กำลังเข้าขั้นวิกฤต