ลิ้งค์เชื่อมต่อ

รัฐบาลทั่วโลกยกระดับมาตรการสู้โควิด-19


A motorway sign warning drivers about EU traffic restrictions is seen on the M56 motorway near Liverpool, Britain March 18, 2020.
A motorway sign warning drivers about EU traffic restrictions is seen on the M56 motorway near Liverpool, Britain March 18, 2020.

รัฐบาลในหลายๆ ประเทศตัดสินใจยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ซึ่งรวมถึงการห้ามคนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตยังเพิ่มขึ้นอยู่นี้

มาตรการดังกล่าวที่มีผลบังคับใช้ในยุโรปในวันพุธทำให้เกิดภาวะการจราจรคับคั่งที่บริเวณด่านข้ามพรมแดนของประเทศต่างๆ แม้ว่าทางการท้องถิ่นจะอนุญาตให้เฉพาะผู้ที่มีความจำเป็นจะต้องเดินทางและลูกจ้างพนักงาน รวมทั้งคนขับรถบรรทุกส่งเสบียง ยาและเวชภัณฑ์ ผ่านแดนได้ก็ตาม

และในวันเดียวกันนี้เอง สหรัฐฯ และแคนาดาเริ่มดำเนินมาตรการห้ามคนต่างชาติเข้าประเทศ ยกเว้นพลเมืองอเมริกันและผู้ถือกรีนการ์ดที่ยังเดินทางเข้าแคนาดาได้ ส่วนมาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีการระบาดสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สั่งปิดเมืองบางเมืองเป็นเวลา 2 สัปดาห์เช่นกัน ส่งผลให้การจราจรบนถนนหลวงเชื่อมต่อมาเลเซียกับสิงคโปร์ติดขัดหนัก

ที่ซาอุดิอาระเบีย รัฐบาลแจ้งภาคธุรกิจให้อนุญาตให้พนักงานสามารถทำงานจากบ้านได้ ส่วนผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาที่ทำงานนั้น ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำในการป้องกันตัวเอง ซึ่งรวมทั้งการรักษาระยะห่างจากผู้อื่นด้วย

ด้านนายกรัฐมนตรี สก็อตต์ มอร์ริสัน ของออสเตรเลีย ประกาศ “ภาวะฉุกเฉินด้านความปลอดภัยทางชีวิภาพสำหรับมนุษย์” เพื่อเปิดทางให้หน่วยงานรัฐต่างๆ สามารถออกคำสั่งและดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง และประกาศเคอร์ฟิว ตามแต่เห็นสมควร

รายงานข่าวแจ้งว่า หลายประเทศเริ่มดำเนินการคล้ายๆ กันเพื่อจำกัดการเดินทางเคลื่อนย้ายของผู้คน ด้วยความหวังที่จะทำให้การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ลดลง

ข้อมูลล่าสุดจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอพกินส์ ระบุ ตัวเลขผู้ติดเชื้อทั่วโลกอยู่ที่กว่า 214,000 คน และมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้แล้วไม่น้อยกว่า 8,700 ราย

โลธาร์ ฟีเลอร์ จากสถาบัน โรเบิร์ต โคช ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยของรัฐบาลเยอรมัน กล่าวว่า จำนวนผู้ติดเชื้อสามารถลดลงได้อย่างชัดเจน หากมีการออกมาตรการจำกัดการมีปฏิสัมพันธ์ของคน

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเยอรมนีประเมินไว้ว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศอาจพุ่งสูงถึง 10 ล้านคนได้ ขณะที่ ฟีเลอร์ เตือนว่าผลกระทบของการระบาดครั้งนี้ในประเทศเยอรมนีอาจดำเนินไปนานได้ถึง 2 ปี

และในเวลานี้ที่สถานการณ์ในประเทศจีน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดครั้งนี้ ยังดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สหรัฐฯ รายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตจากไวรัสนี้แล้วอย่างน้อย 100 ราย และทางการในเมืองใหญ่ๆ ที่มีการระบาดหนัก เช่น ซาน ฟรานซิสโก ออกคำสั่งให้ประชาชนหลายล้านคนอาศัยอยู่แต่ในที่พักอาศัยเท่านั้น ส่วนที่ นิวยอร์กซิตี้ กำลังพิจารณามาตรการดังกล่าวอยู่

นอกจากประเทศที่มีปัญหาการระบาดมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา บราซิล ยืนยันพบผู้ติดเชื้อรายแรก พร้อมสั่งปิดสถานที่ที่คนนิยมชุมนุมทั่วประเทศทันที ส่วนคีร์กีซสถานตรวจพบผู้ติดเชื้อรายแรกของประเทศในวันพุธ และสั่งปิดพรมแดนของตนไปแล้ว

XS
SM
MD
LG