หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เตรียมทำใจรับผลกระทบจากการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่มีชื่อเป็นทางการว่า Covid-19 ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของหลายประเทศในปีนี้ ออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า
แรงกระเพื่อมที่ชัดเจนที่สุดจากวิกฤติการณ์ที่เริ่มต้นในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คือการที่นักท่องเที่ยวชาวจีนหลายล้านคนหายไป เนื่องจากนโยบายจำกัดการเดินทางในจีน และการห้ามนักเดินทางจากจีนเข้าบางประเทศ รวมทั้งการที่สายการบินทั่วโลกระงับเที่ยวบินราว 25,000 เที่ยวผ่านจีน ส่งผลให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอันเป็นจักรกลสำคัญทางเศรษฐกิจของหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศไทย ซบเซาอย่างมาก
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักคึกคักไปด้วยชาวจีนในช่วงวันหยุดตรุษจีน แต่ปีนี้ บริษัทท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องต้องยกเลิกโปรแกรมเดินทางต่างๆ ไปโดยปริยาย
รายงานข่าวระบุว่า 18% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าสิงค์โปรในปี 2018 มาจากจีน ส่วนสถิติของไทยอยู่ที่กว่า 27% ขณะที่สัดส่วนของนักเดินทางจากจีน ต่อจำนวนผู้เดินทางเข้าประเทศในปีที่แล้วของฟิลิปปินส์และมาเลเซียอยู่ที่ 20% และ 11% ตามลำดับ
นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทวิจัยการตลาด IHS Markit ให้ความเห็นว่า คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งรู้สึกกลัวและวิตกกังวล เพราะวิกฤติครั้งนี้อย่างมาก เนื่องจากแรงกระแทกที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับนับว่ารุนแรงหนักอยู่แล้ว ขณะที่ไม่มีใครคาดได้ว่าผลกระทบในภาพรวมจะเป็นอย่างไร จนกว่าจะมีการควบคุมสถานการณ์การระบาดได้
นับตั้งแต่เกิดการระบาดมา มีผู้เสียชีวิตจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ไปแล้วกว่า 1,100 คน และมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 45,000 คน แม้ว่าจีนจะสั่งปิดเมืองบางเมืองและสั่งขยายวันหยุดตรุษจีนต่ออีกอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อหวังลดการติดต่อในโรงเรียนและที่ทำงาน โดยบริษัทและห้างร้านหลายแห่งเพิ่งเปิดทำการ และคนงานกลับมาทำงานต่อได้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเท่านั้น
นอกจากนั้น อุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออกที่ตั้งอยู่ในอาเซียน โดยเฉพาะ ในเวียดนามและกัมพูชา ที่พึ่งพาวัตถุดิบจากจีน เช่น เหล็กและชิ้นส่วนสำหรับสินค้าอิเลคทรอนิคส์
ด้วยจำนวนโรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคนี้ ทำให้มีการคาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2020 เศรษฐกิจของกัมพูชาจะโตถึง 6.8% ขณะที่เศรษฐกิจเมียนมาร์และเวียดนามจะขยายตัวราว 6.7% แต่ในเวลานี้ หลายฝ่ายคาดว่าตัวเลขจริงจะต่ำกว่าที่คาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การขาดแคลนวัตถุดิบจากจีนในช่วงที่ผ่านมาทำให้โรงงานหลายแห่งในเวียดนามต้องหยุดสายการผลิตชั่วคราวไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนบริษัทรถชั้นนำ เช่น โตโยต้า ฮุนได และฟอร์ด ตัดสินใจเลื่อนแผนเปิดโรงงานแห่งใหม่ในหลายประเทศเช่นกัน
ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหนานหยาง (Nanyang Technology University) ในสิงคโปร์ ชี้ว่า ธุรกิจหลายแห่งแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากการระบาดครั้งนี้ เช่น บริษัทแอปเปิล ที่กำลังพิจารณาผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของตนอยู่ พร้อมระบุว่า หลายคนอาจต้องเริ่มประเมินผลกระทบระยะยาวจากสถานการณ์นี้ เพราะจีนอาจต้องปิดประเทศไปอีกนาน
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์เชื่อว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอาเซียนน่าจะลากยาวอย่างน้อย 3 หรือ 6 เดือน ส่วนการฟื้นตัวนั้นขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลที่เกี่ยวข้องสามารถให้การสนับสนุนภาคธุรกิจที่เดือดร้อนได้มากเพียงใด และจีนสามารถควบคุมการระบาดได้หรือไม่