ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ทั่วโลกขณะนี้มีกว่า 7 แสน 7 หมื่นคน โดยมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 37,000 คน
สเปนซึ่งได้ประกาศล็อคดาวน์ไปตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม ได้อาศัยกิจกรรมออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ผู้คนไม่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวขณะที่ถูกจำกัดบริเวณอยู่ในบ้าน โดยแต่ละวัน ชาวเมืองบาร์เซโลนาจะสามารถเข้าไปดูรายการกิจกรรมในแพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อ Nextdoor ว่ามีทางเลือกให้ทำอะไรได้บ้าง และกิจกรรมเหล่านี้ก็มีส่วนช่วยสร้างแรงจูงใจและทำให้คนอยากลุกขึ้นจากเตียงในแต่ละวันด้วย
ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคมเป็นต้นมา มีการสร้างกลุ่มกิจกรรมออนไลน์บนแพลตฟอร์ม Nextdoor Spain เพิ่มขึ้นราว 10 เท่าตัว และมีผู้เข้าใช้งานทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 80% ในแต่ละวัน
นอกจากนั้น เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Nextdoor ซึ่งเป็นบริษัทโซเชียลมีเดียในนครซานฟรานซิสโก ยังได้เริ่มบริการใหม่ชื่อ Solidarity Map ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานทั่วโลกสามารถขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน หรือเสนอให้ความช่วยเหลือแก่คนที่ต้องการซึ่งอยู่ในชุมชนของตนเช่นกัน
สำหรับคนหนุ่มสาวผู้ต้องการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมในขณะที่ตัวเองต้องอยู่ห่างๆ นั้น Tinder ซึ่งเป็นแอพสำหรับการนัดเจอและพูดคุยออนไลน์ ได้ประกาศให้สมาชิกทั่วไปสามารถใช้บริการชื่อ Passport ได้ฟรี จนถึงวันที่ 30 เมษายน
โดยบริการ Passport นี้จะช่วยให้ผู้ใช้ Tinder สามารถทักทายพูดคุยกับคนที่ตนสนใจและอยู่ในต่างประเทศได้ ถึงแม้ตัวเองจะถูกจำกัดบริเวณอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่งก็ตาม
และที่กรุงเบอร์ลิน เมืองซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องชีวิตยามค่ำคืน ไนท์คลับของเมืองราว 250 แห่งได้ร่วมกันสร้างเว็บไซต์ชื่อ United We Stream เพื่อสตรีมดนตรีสดจากดีเจต่าง ๆ ตั้งแต่เวลาหนึ่งทุ่มถึงเที่ยงคืน เพื่อให้ผู้คนไม่ต้องออกจากบ้านตอนกลางคืน
นอกจากนั้น พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ในกรุงปารีส ก็เปิดกิจกรรมออนไลน์เพื่อให้คนสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้ทางอินเตอร์เน็ต หรือจัดการแสดงสดในห้องซึ่งไม่มีคนดูและถ่ายทอดรายการนั้นด้วยวิธีสตรีมมิ่งเช่นกัน
ทางด้านเอเชียก็มีการสอนทำอาหารออนไลน์ที่เมืองอู่ฮั่นของจีน หรือการสร้างกิจกรรมสังคมออนไลน์ในญี่ปุ่น เพื่อช่วยให้คนไม่ต้องออกมาเจอหน้ากัน อย่างที่เรียกว่า “on-nomi” หรือการดื่มที่บ้านใครบ้านมัน แต่ยังมีโอกาสเห็นหน้าและพูดคุยสนทนากันได้ออนไลน์ เป็นต้น
ผศ. นาธาน แวนเดอร์ฟอร์ด ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคนตักกี บอกว่า ในช่วงเวลาที่คนเราประสบปัญหาท้าทายอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อนเช่นนี้ แทบทุกคนถูกบังคับให้ต้องแยกตัวออกห่างทางสังคม และถึงแม้สภาพการณ์ที่ว่านี้อาจส่งผลลบต่อชีวิตและสภาพจิตใจ เราก็สามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มออนไลน์ช่วยเสริมสิ่งที่ขาดไปได้
โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยว่า อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์เพื่อช่วยรักษาสุขภาพจิตและสร้างความคิดในแง่บวก
ส่วนอาจารย์ซาร่า โทเม่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยโกเทนเบิร์กของสวีเดน ก็เตือนว่า เราไม่ควรละเลยกลุ่มผู้สูงวัยที่อาจไม่ค่อยถนัดเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียและการทำกิจกรรมออนไลน์ เพราะปัญหาการถูกตัดขาดทางสังคมจะยิ่งสร้างความเครียดให้กับคนกลุ่มนี้ได้
อย่างไรก็ตาม คุณจาเบียร์ เกรก อาจารย์ผู้สอนภาษาที่กรุงมาดริดของสเปน ก็เชื่อว่ากิจกรรมออนไลน์ต่าง ๆ ที่ผุดขึ้นมากมายในช่วงเวลาของการแยกตัวทางสังคมนี้จะเป็นโอกาสดีให้ผู้คนได้ทดลองวิธีและรูปแบบใหม่ ๆ ของการติดต่อสัมพันธ์
และเมื่อวิกฤต COVID-19 นี้ผ่านพ้นไปแล้ว กิจกรรมบางอย่างก็อาจจะกลายเป็นทางเลือกใหม่ให้กับชีวิตเราได้เช่นกัน