ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าทองแดงอาจมีส่วนทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม (Alzheimer’s disease) ได้


นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าทองแดงอาจมีส่วนทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม หรือ Alzheimer’s disease ได้ โดยอาศัยผลการทดลองกับหนูเป็นพื้นฐานของความเห็นนี้ โรคดังกล่าวทำให้จิตฟั่นเฟือนและเสียชีวิตในที่สุด

องค์การ Alzheimer’s Disease International กล่าวว่า โรคสมองเสื่อมนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป มีอาการจิตฟั่นเฟือน ตัวเลขขององค์การระบุว่า ในปี ค.ศ. 2010 มีคนในโลกเกือบ 36 ล้านคนที่มีอาการจิตฟั่นเฟือน และคาดว่าจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคนี้จะเพิ่มขึ้นไปถึง 115 ล้านคนภายในปี ค.ศ. 2050 หรืออีกเกือบ 40 ปีข้างหน้า

เท่าที่รู้กันนั้น โรคสมองเสื่อมเกิดจากพิษที่โปรทีน amyloid beta เก็บสะสมไว้ และกลายเป็นแผ่นหรือเกล็ดแข็งในสมอง นักวิทยาศาสตร์อธิบายไม่ได้ว่ากลไกที่ทำให้โปรทีนจับตัวสะสมสารพิษนั้นคืออะไร

แต่ผลการทดลองกับหนูในห้องทดลองเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้นักวิจัยลงความเห็นได้ว่า ปัจจัยหนึ่งในสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดโรคสมองเสื่อม ดูเหมือนจะเป็นทองแดง ซึ่งเป็นสารโลหะที่ปรากฏในเนื้อสัตว์ ผลไม้และผัก รวมทั้งน้ำดื่มด้วย

ทองแดงเป็นสารสำคัญสำหรับร่างกาย เพราะเป็นสื่อนำการสื่อสารติดต่อของประสาท ช่วยให้กระดูกเจริญเติบโต รวมทั้งการขับฮอร์โมน

ศาสตราจารย์ นพ. Rashid Deane ซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชาประสาทศัลยศาสตร์อยู่ที่ศูนย์แพทย์ของมหาวิทยาลัย Rochester ในรัฐนิวยอร์ค อธิบายว่า ตามปกติ จะมีโปรทีน ซึ่งเรียกชื่อว่า LRP1 ทำหน้าที่เสมือนเป็นรถเก็บขยะ คอยกวาดล้าง amyloid ที่มีสารพิษนี้ออกไป แต่ในสมองของผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อม มีสารทองแดงสะสมอยู่ เพราะไม่มีหรือมี LRP1 ไม่พอที่จะทำงานเก็บขยะอย่างเคยได้ เหมือนกับสมองของหนูในห้องทดลองที่นักวิจัยป้อนน้ำผสมสารทองแดงให้กินเป็นเวลาสามเดือน

หลังจากสามเดือนแล้ว นักวิจัยพบว่า ทองแดงที่เข้าไปในเลือดของหนูสามารถเข้าไปถึงผนังเส้นเลือดฝอยที่มีหน้าที่ปกป้องสมองจากสารพิษรวมทั้งทองแดง

และเมื่อเวลาผ่านไป ทองแดงจะสามารถทำลายสิ่งกีดขวางที่เรียกว่า ทำนบระหว่างเลือดกับสมอง หรือ Blood-Brain Barrier และเข้าไปทำร้ายสมองได้

นักวิจัยพบว่ามีปรากฏการณ์อย่างเดียวกันกับสมองมนุษย์ คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมสารทองแดงจึงสะสมในสมองของคนบางคน ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นโรคสมองเสื่อม หรือ Alzheimer’s ได้ ในขณะที่ไม่สะสมในสมองของคนอื่นๆ

ศจ. นพ. Rashid Deane บอกว่า บางคนเป็นเพราะกรรมพันธุ์ อีกปัจจัยหนึ่งคือสมรรถนะของร่างกายในการป้องกันตัว ในขณะที่ลักษณะการดำรงชีวิตสมัยนี้ก็มีผลกระทบได้ด้วย

แพทย์นักวิชาการผู้นี้บอกว่า คนเราเปลี่ยนที่อยู่ไปตามที่ต่างๆในชั่วชีวิต รับประทาน หรือลองรับประทานอาหารต่างๆ บางคนก็ระมัดระวังมากกับอาหารที่รับประทาน เพราะมีความรู้เรื่องการประกอบอาหารและโภชนาการมากขึ้น และว่าทั้งหมดนี้อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยอธิบายได้

เพราะว่าสารทองแดงปรากฏอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง นักวิจัยคนอื่นๆจึงไม่คิดว่า ปริมาณน้อยนิดที่มนุษย์รับประทานเข้าไปจะทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมระบาดได้

บทความเรื่องนี้ตีพิมพ์ไว้ในสารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences
XS
SM
MD
LG