ในยุคที่โลกและสังคมเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน มีสิ่งที่ผู้คนไม่เข้าใจหรือไม่สามารถหาคำอธิบายได้ง่ายๆ และทำให้เกิดความรู้สึกว่าเราไม่สามารถควบคุมอะไรได้นั้น เงื่อนไขและปัจจัยดังกล่าวทำให้คนบางกลุ่มเชื่อในสิ่งที่เรียกว่า Conspiracy theories หรือทฤษฎีสมคบคิด
แต่นักจิตวิทยาอธิบายว่าลักษณะการคิดและบุคลิกภาพของบุคคลก็มีส่วนทำให้คน ๆ นั้นมีโอกาสเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดมากกว่าคนอื่นได้
ตัวอย่างของทฤษฎีสมคบคิดที่คนอเมริกันอาจจะเคยได้ยินหรือคุ้นหูกันดี:
- อาคารแฝดของเวิล์ดเทรดเซ็นเตอร์พังถล่มลงมาจากการระเบิดซึ่งมีการวางแผนและควบคุม ไม่ใช่เพราะเครื่องบินที่ถูกผู้ก่อการร้ายจี้บังคับพุ่งชน
- โรคระบาดใหญ่โควิด-19 เกิดจากเชื้อไวรัสที่หลุดออกมาจากห้องทดลองของจีน และอาจเป็นอาวุธชีวภาพที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ใช่เชื้อโรคที่โดดข้ามสายพันธุ์จากสัตว์สู่มนุษย์
- ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ถูกลอบสังหารจากการวางแผนของซีไอเอ แก๊งค์มาเฟีย หน่วยงาน KGB และรองประธานาธิบดีลินดอน บี จอห์นสัน ไม่ใช่จากมือปืนเพียงคนเดียว เป็นต้น
- การบุกเข้ายึดอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคมต้นปีนี้ เป็นผลมาจากทฤษฎีสมคบคิด-ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง คือเรื่องว่าโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องพ่ายแพ้เพราะมีการโกงการเลือกตั้งประธานาธิบดีขนานใหญ่
คุณปีเตอร์ ดิตโต อาจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเออร์ไวน์ อธิบายว่า ทฤษฎีสมคบคิดมักเกิดขึ้นจากการที่คนมองโลกในแง่ถูกหรือผิดแบบขาวกับดำ และสามารถผลักดันผู้คนให้ทำอะไรบางอย่างที่ไม่นึกว่าจะทำมาก่อนได้ เป็นต้นว่ามีการปลุกขวัญผู้คนให้รู้สึกว่าตนทำในสิ่งที่ถูกต้อง เช่น ต้องทำอะไรบางอย่างเพราะถูกขโมยผลการเลือกตั้งไป เป็นต้น
ส่วนอาจารย์นิก้า คาบิริ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการตัดสินใจของมนุษย์ที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตัน ในนครซีแอตเติ้ล ก็เสริมว่า ทฤษฎีสมคบคิดเป็นลักษณะการคิดแบบหนึ่งซึ่งกล่าวโทษหรือพยายามจะอธิบายเหตุการณ์สำคัญ ๆ ว่าเป็นผลมาจากแผนการณ์บางอย่างที่ทำโดยบุคคลหรือองค์กรที่มีอำนาจ และผู้ที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิดก็มักจะเชื่อว่ามีการปิดบังความลับบางอย่างจากสาธารณชนด้วย
โดยยิ่งหากมีบุคคลผู้มีชื่อเสียงหรือโดดเด่นช่วยตอกย้ำเรื่องดังกล่าวด้วยแล้ว ทฤษฎีสมคบคิดก็ยิ่งจะได้รับความสนใจมากขึ้นตามไปด้วย
อาจารย์นิก้า คาบิริ อธิบายว่า ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าเราทุกคนเกลียดความไม่แน่นอนและเราไม่ชอบความรู้สึกที่ไม่รู้ว่าทำไมเรื่องนี้จึงเกิดขึ้น ดังนั้น เราจึงพยายามหาคำตอบเพื่อช่วยให้สบายใจ และทฤษฎีสมคบคิดก็ดูจะเป็นทางออกที่เรียบง่ายสำหรับความสับสนที่ว่านี้
ถึงแม้เราทุกคนล้วนมีโอกาสตกเป็นเหยื่อของทฤษฎีสมคบคิดได้ทั้งสิ้น แต่ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยเอมมอรี ในรัฐจอร์เจีย แสดงว่า ผู้ที่อ่อนไหวต่อทฤษฎีสมคบคิดมากที่สุดนั้นคือคนที่มักไม่ตั้งคำถามหรือไม่ถามกลับในเรื่องต่าง ๆ คนซึ่งมีพฤติกรรมแบบรัก ชอบ หลง ชื่นชมตัวเอง เชื่อในความสำคัญของตัวเองและต้องการความสนใจจากผู้อื่น รวมทั้งคนที่มีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์และขาดความเห็นอกเห็นใจในปัญหาของคนอื่นด้วย
ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยเอมมอรีซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Personality ยังชี้ด้วยว่า เหยื่อของทฤษฎีสมคบคิดส่วนใหญ่มักมีบุคลิกภาพที่ไม่ค่อยเป็นมิตร ไม่มีสติรู้คิดรอบคอบ รวมทั้งไม่ค่อยมีความสุขในชีวิต และถึงแม้คนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้มักคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่และมีพลัง แต่แท้จริงแล้วเขาหรือเธอกลับถูกโน้มน้าวได้ง่ายจากคนที่อยู่รอบข้าง จากข่าวสารข้อมูลที่ได้รับ และจากโซเชียลมีเดียนั่นเอง
อาจารย์ปีเตอร์ ดิตโต ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในช่วงเวลาของปัญหาและความยากลำบากซึ่งโลกและชีวิตดูจะสับสนและเข้าใจอะไรได้ยาก รวมทั้งเป็นเวลาที่เรารู้สึกหงอยเหงาและต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวนั้น สภาพการณ์แบบนี้จะยิ่งทำให้ทฤษฎีสมคบคิดแพร่กระจายออกไป
นอกจากนั้น ทฤษฎีสมคบคิดยังเป็นผลมาจากกระบวนการวิวัฒนาการนานนับล้านปีของมนุษย์ซึ่งทำให้เราอยากอยู่ในกลุ่มคนที่คิด ทำ และเชื่อเหมือนเรา เพราะดูจะเป็นเรื่องที่สะดวกใจกว่าถ้าจะรับคำอธิบายง่าย ๆ จากทฤษฎีสมคบคิดในสิ่งที่ยากจะเข้าใจหรือมีผลเปลี่ยนแปลงชีวิตเรา
ถึงแม้ว่าข้อมูลในทฤษฎีสมคบคิดเหล่านั้นจะไม่ใช่ความจริงก็ตาม