ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ฝันแฟนตาซีกลายเป็นจริง! นักศึกษาคองโกพัฒนาเครื่องมือ ‘ย้ายวัตถุด้วยคลื่นสมอง’


Pierre Sedi, Congolese investor, working on device to interpret brain signal into action.
Pierre Sedi, Congolese investor, working on device to interpret brain signal into action.

นักศึกษาคนหนึ่งในประเทศคองโกประสบความสำเร็จในการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดรอบ ๆ ตัวพัฒนาอุปกรณ์ที่ช่วยขยายสัญญาณสมองเพื่อควบคุมและเคลื่อนย้ายวัตถุได้จริงเหมือนที่เคยเห็นในภาพยนตร์

ในสมัยเด็ก ๆ หนึ่ง ปิแอร์ เซดี จำได้ว่า ชอบชมการ์ตูนแนวแอ็คชั่นฮีโร่แฟนตาซีเรื่อง X-Men เป็นประจำ และในเรื่องนี้ มีอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งเป็นหมวกซึ่งเชื่อมต่อกับสมองเพื่อใช้สื่อสาร และตรวจจับสิ่งต่าง ๆ ด้วยการขยายคลื่นสมองของผู้ใช้งาน

Pierre Sedi, Inventor
Pierre Sedi, Inventor

ในวันนี้ เซดี ในวัย 25 ปี เป็นนักศึกษาวิศวกรรม แผนกโพลีเทคนิค สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ ที่มหาวิทยาลัยกินชาซา สามารถพัฒนาสิ่งที่เคยอยู่ในนิยายวิทยาศาสตร์ให้กลายเป็นเรื่องจริงได้แล้ว ซึ่งก็คืออุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานควบคุมหุ่นยนต์โดยใช้สัญญาณสมอง

Gate to University of Kinshasa, Congo
Gate to University of Kinshasa, Congo

เซดี ผู้ประดิษฐ์เทคโนโลยีนี้ เล่าให้สำนักข่าววีโอเอฟังว่า “ระบบที่เราพัฒนาขึ้นและตั้งชื่อว่า Cerebro เป็นส่วนต่อประสานระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถอ่านกิจกรรมคลื่นไฟฟ้าของสมองมนุษย์ ก่อนจะนำไปผ่านปัญญาประดิษฐ์เพื่อตีความออกมาเป็นการกระทำได้”

Cerebro device
Cerebro device

ระบบทั้งหมดนี้ใช้หมวกที่อ่านกิจกรรมของคลื่นไฟฟ้าของสมองด้วยเซ็นเซอร์และอิเล็กโทรดจำนวน 14 ตัว โดยตัวหมวกถูกเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ที่ทำหน้าที่เก็บข้อมูลและส่งข้อมูลนั้นในรูปคำสั่งไปยังหุ่นยนต์

เซดี กล่าวว่า ในปัจจุบัน มีการพัฒนาระบบการเชื่อมต่อระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์อยู่ตามห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ ทั่วโลกเพื่อช่วยผู้พิการ ซึ่งรวมถึงผู้ที่ป่วยเป็นโรคอัมพาตครึ่งซีกและไม่สามารถใช้มือหรือเท้าได้อีกต่อไป ให้สามารถควบคุมวัตถุที่อยู่รอบตัวผ่านสมองได้โดยตรง

Cerebro software
Cerebro software

สำหรับประเทศที่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้รับเงินทุนจำนวนมากจากรัฐบาลและมีผู้ที่จะมาลงทุนได้ไม่มาก เซดี จึงประสบความท้าทายอย่างมากในการเดินหน้างานการประดิษฐ์นี้

ผู้ประดิษฐ์เทคโนโลยี Cerebro เผยว่า “ในการพัฒนาส่วนต่อประสานของสมองกับคอมพิวเตอร์ ความท้าทายประการแรกอยู่ที่ต้นทุนในการหาวัสดุ เนื่องจากวัสดุสำหรับการวิจัยนี้มีราคาที่สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นทั้งซอฟต์แวร์หรือว่าฮาร์ดแวร์”

Pierre Sedi and Jean-Marie Beya Kamba, Engineering Professor
Pierre Sedi and Jean-Marie Beya Kamba, Engineering Professor

ฌอง-มารี เบยา คัมบา อาจารย์ด้านวิศวกรรม หวังว่า โครงการของลูกศิษย์คนนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อื่น และทำให้เกิดการสนับสนุนด้านลงทุนอย่างรวดเร็วในการวิจัยประเภทนี้

เบยา คัมบา ให้ทัศนะว่า “หากจะต้องมีการเรียกร้องใด ๆ ต่อทางการ ก็ต้องเป็นเรื่องให้มีการลงทุนในงานวิจัย การฝึกอบรมวิศวกรระดับสูง เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศล้วนขึ้นอยู่กับคุณภาพของวิศวกรเหล่านี้ซึ่งจะต้องมีบุคคลดังกล่าวเป็นจำนวนมาก”

และแม้ว่าอุปกรณ์เชื่อมต่อสมองและคอมพิวเตอร์จะอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา เซดีเชื่อว่า จะมีการต่อยอดการใช้งานและการนำไปประยุกต์ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

  • ที่มา: วีโอเอ

XS
SM
MD
LG