วันที่ 12 ตุลาคม เป็นวันหยุดราชการของสหรัฐฯ มาตั้งแต่ ค.ศ. 1937 เพื่อฉลองการเดินของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจชาวอิตาเลียน ที่เหยียบผืนแผ่นดินทวีปอเมริกาในวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 1492 และประกาศความเป็นกรรมสิทธิ์ของดินแดนแห่งนี้ให้กับสเปน
ข้อมูลนี้ทำให้เกิดความเข้าใจว่าคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส "เป็นผู้ค้นพบอเมริกา" แต่หากพิจารณาถึงหลักฐานอ้างอิงอื่นๆ อาจกล่าวได้ว่า ที่ถูกต้องกว่า คือการที่โคลัมบัส เป็นบุคคลที่ทำให้อเมริกาเป็นที่รู้จักต่อชาวยุโรปตะวันตก ในช่วงการเดินทาง 4 ครั้งของเขามายังดินเเดนแห่งนี้ระหว่างปี ค.ศ. 1492 ถึง 1502
เขาคือผู้ที่เปิดทางให้มีการอพยพครั้งใหญ่ ของชาวยุโรปตะวันตกมายังทวีปอเมริกา ผู้ที่พิจารณาถึงจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์นี้ พบว่าคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสช่วยเปิดทางให้เกิดการค้าทาส ณ ดินเเดนแห่งนี้
และในปีนี้เมื่อเกิดความระสำ่ระสายทางสังคมในสหรัฐฯ อันเนื่องการจากการใช้ความรุนแรงของตำรวจต่อคนผิวดำ รูปปั้นโคลัมบัส และบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับการค้าทาส การล่าอาณานิคมและการเหยียดสีผิว ถูกทำลายจำนวนมาก
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐต่างๆในสหรัฐฯเรียกวันหยุด 12 ตุลาคม เพื่อให้เกียรติแก่กลุ่มประชากรที่เคยอยู่ในทวีปอเมริกาเเต่ดั้งเดิม แทนการฉลองการเดินทางถึงทวีปอเมริกาโดยโคลัมบัส
ดังนั้น วันหยุด Columbus Day จึงถูกเรียกขานในชื่ออื่นด้วย เช่น Indigenous Peoples' Day หรือ Native American Day
ในปีนี้ผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนีย ให้เรียก Columbus Day ว่าเป็น Indigenous Peoples' Day เป็นปีเเรก เพื่อรำลึกคนพื้นเมืองในอเมริกาที่ถูกชาวตะวันตกกดขี่ หลังการบุกเบิกของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส
นอกจากนี้ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชี้ว่า โคลัมบัส มิได้เป็นคนจากดินเเดนอื่นที่เดินทางถึงทวีปอเมริกาเป็นคนแรก
ไมเคิล บาวายา บรรณาธิการของนิตยสาร American Archaeology บอกกับวีโอเอว่า เมื่อราวอย่างน้อย 15,000 ก่อน คนจากทวีปเอเชียเดินทางมาถึงทวีปอเมริกา โดยเดินเท้าข้ามมาทางเส้นทาง ที่เรียกว่า Bering land bridge ที่เชื่อมระหว่าง พื้นที่ที่ปัจจุบันคือรัฐอะลาสกา และไซบีเรีย
ในยุคดังกล่าว ระดับนำ้ทะเลตำ่กว่าปัจจุบัน และปรากฏพื้นที่แผ่นดินความยาวหลายร้อยกิโลเมตรระหว่างดินเเดนทั้งสอง
จุดเชื่อมต่อทางบกดังกล่าวเป็นเส้นทางที่ทำให้สัตว์และพืชหลายชนิดแพร่พันธุ์และเดินทางข้ามทวีปได้
ข้อมูลจากหน่วยงานอุทยานแห่งชาติสหรัฐฯระบุด้วยว่าการย้ายถิ่นของสัตว์หลายชนิดในอดีตยังคงรักษารูปแบบเส้นทางเดิมมาจนถึงปัจจุบัน
เดิมทีคนพื้นเมืองของทวีปอเมริกาถูกเรียกว่าชาวโคลวิส (Clovis) ตามหลังฐานการตั้งถิ่นฐาน เมื่อกว่า 11,000 ปีก่อน ที่พบบริเวณที่เขต Clovis รัฐนิวเม็กซิโก
แต่เมื่อมีการศึกษาเพิ่มเติม ผู้เชี่ยวชาญพบว่า คนพื้นเมืองกลุ่มแรกของทวีปอเมริกามิใช่ชาวโคลวิส และพบในพื้นที่อื่นด้วย เช่น ในประเทศเปรู ชิลี รวมถึงรัฐเท็กซัสและเวอร์จิเนียของสหรัฐฯ
หลักฐานที่พบเพิ่มเติมระบุว่าอาจมีการตั้งถิ่นฐานครั้งเเรกของชนพื้นเมืองเมื่อ 20,000 ก็เป็นได้
และสำหรับข้อถกเถียงเพิ่มเติมเกี่ยวกับชาวยุโรปที่เดินทางถึงทวีปอเมริกาเป็นรายแรก มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าชาวไวกิ้ง มาเยือนดินเเดนที่เป็นประเทศแคนาดาปัจจุบัน 500 ปีก่อนคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส โดยพบหลักฐานชาวไวกิ้งที่เกาะนิวฟันเเลนด์ ณ สถานที่ที่เรียกว่า ล็องส์ โอ เมโดวส์ (l'Anse Aux Meadows)
เมื่อพิจารณาถึงข้อมูลอ้างอิงเหล่านี้ อาจกล่าวได้ว่าอเมริกาเป็นดินเเดนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ตั้งแต่ยุคดั้งเดิมก่อนที่จะถูกเรียกในยุคปัจจุบันว่าเป็น melting pot ที่หลอมรวมพื้นเพของคนหลายเชื้อชาติ ที่มาเเสวงหาเสรีภาพและโอกาสใหม่ๆในดินเเดนแห่งนี้