พลเอก โคลิน พาวเวลล์ อดีตประธานผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วม และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ วัย 84 ปี ถึงแก่กรรมจากอาการแทรกซ้อนของโควิด-19 ตามรายงานของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นและรอยเตอร์
ครอบครัวของพลเอกพาวเวลล์โพสต์ลงในเฟสบุ๊คในวันจันทร์ว่า พลเอกพาวเวลล์ถึงแก่กรรมแล้วในช่วงเช้าวันจันทร์ จากอาการโควิด-19 พร้อมระบุว่าพลเอกพาวเวลล์ได้รับวัคซีนโควิดครบโดสแล้ว
"เราสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ซึ่งเป็นทั้งสามี บิดา คุณปู่ และเป็นชาวอเมริกันที่ยิ่งใหญ่" แถลงการณ์ของครอบครัวระบุ
รายงานเผยว่า พลเอกพาวเวลล์ล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวซึ่งทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งแม้จะฉีดวัคซีนโควิดครบโดสแล้วก็ยังคงสามารถเป็นอันตรายจากเชื้อโคโรนาไวรัสได้
ประวัติอันโดดเด่นทั้งทางการเมืองและการทหาร
พลเอก โคลิน พาวเวลล์ คือรัฐมนตรีต่างประเทศผิวดำคนแรกของสหรัฐฯ ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ระหว่างปี ค.ศ. 2001 - 2005 ซึ่งนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ในช่วงเวลานั้นได้นำไปสู่การปรับเปลี่ยนแนวทางด้านการต่างประเทศของสหรัฐฯ หลายประการจวบจนปัจจุบัน
โคลิน พาวเวลล์ เข้าร่วมรบในสงครามเวียดนาม และได้กลายมาเป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ในเวลาต่อมา ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งประธานผู้บัญชาการเหล่าทัพร่วมในสมัยของประธานาธิบดีจอร์จ บุช
พลเอกพาวเวลล์ได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนอเมริกันมากขึ้นหลังจากเป็นผู้นำกองทัพสหรัฐฯ ในสงครามอ่าวเปอร์เซีย และเคยได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ชื่อเสียงของพลเอกพาวเวลล์มัวหมองลงไปในช่วงที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งเขาผลักดันให้สหรัฐฯ ส่งทหารเข้าไปในอิรักภายใต้ข่าวกรองที่ได้รับการพิสูจน์ในเวลาต่อมาว่าผิดพลาด ซึ่งพลเอกพาวเวลล์กล่าวในเวลาต่อมาว่าเป็น "จุดด่างพร้อย" ในประวัติการทำงานของตน
จุดยืนทางการเมือง
พลเอกพาวเวลล์ถือเป็นสมาชิกแนวทางสายกลางของพรรครีพับลิกันและเป็นนักปฏิบัติ ในปี ค.ศ. 1996 เขาเคยคิดจะลงสมัครเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ถูกทัดทานไว้โดยภรรยาเนื่องจากเป็นกังวลด้านความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 2008 พลเอกพาวเวลล์ได้สร้างความประหลาดใจในวงการการเมืองอเมริกัน เมื่อเขาได้ประกาศสนับสนุน ส.ว.บารัค โอบาม่า (ตำแหน่งในขณะนั้น) ตัวแทนพรรคเดโมแครต ให้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ก่อนที่โอบาม่าจะชนะการเลือกตั้งได้สำเร็จในปีเดียวกัน
บุคคลสำคัญทางการเมืองสหรัฐฯ รวมทั้ง อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช และอดีตประธานาธิบดีโอบาม่า ได้มีแถลงไว้อาลัยต่อการจากไปของพลเอกพาวเวลล์
อดีตประธานาธิบดีบุช กล่าวว่า "ประธานาธิบดีอเมริกันหลายคนต่างต้องพึ่งคำปรึกษาและประสบการณ์ของพลเอกพาวเวลล์ เขาถือเป็นบุคคลซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบของประธานาธิบดีจนทำให้ได้รับเหรียญแห่งเสรีภาพจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถึงสองครั้ง ถือเป็นบุคคลที่ได้รับการเคารพยกย่องอย่างสูงทั้งในประเทศและต่างประเทศ"
- ข้อมูลบางส่วนจาก ซีเอ็นเอ็น และ รอยเตอร์