เมื่อภูเขาไฟที่นิ่งสงบมานานในรัฐในอลาสกาเริ่มส่งสัญญาณว่า อาจมีการปะทุขึ้นมาอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว เหล่านักวิทยาศาสตร์จึงหันมาหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลมากมายมหาศาลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านธรณีวิทยาในพื้นที่รัฐตะวันตกเฉียงเหนือนี้อย่างรวดเร็ว
รอนนี เกรพเพนทิน รองศาสตราจารย์ จากสถาบันธรณีฟิสิกส์ แฟร์แบงค์ส (Fairbanks Geophysical Institute) แห่งมหาวิทยาลัยแห่งอลาสกา (University of Alaska) ให้สัมภาษณ์ว่า “ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ภายในสองสามวัน เราสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บมาจากระยะเวลาเกือบแปดปีได้สำเร็จ ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อน อาจต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์หรืออาจจะนานหลายเดือน”
การสังเกตการณ์ภูเขาไฟส่วนใหญ่นั้นใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อตรวจวัดว่ามีการเคลื่อนไหวของพื้นดินรอบ ๆ ตัวภูเขาไฟอย่างไรบ้าง ก่อนจะมีการโอนถ่ายข้อมูลดังกล่าวไปยังเซิร์ฟเวอร์ในพื้นที่และดาวน์โหลดมาเพื่อทำการวิเคราะห์
แต่เพราะไฟล์ข้อมูลเหล่านั้นมักมีขนาดใหญ่มาก จึงอาจต้องใช้ระยะเวลานาน ทั้งสำหรับการดาวน์โหลดและการจำแนกวิเคราะห์
แต่ด้วยระบบใหม่นั้น ผู้สังเกตการณ์ภูเขาไฟสามารถจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลบนระบบคลาวด์ ซึ่งช่วยประหยัดเวลาและทำให้การอัปเดตข้อมูลที่เกี่ยวกับภูเขาไฟทำได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น เพราะมีการใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยขึ้นและนำไปสู่การพัฒนาการทำนายการปะทุของภูเขาไฟได้ดียิ่งขึ้น
แม็กซ์ เอนเดอร์ส นักธรณีฟิสิกส์ จากสำนักสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (US Geological Survey - USGS) มองว่า การใช้ระบบคลาวด์มีความสำคัญอย่างมากเพื่อสังเกตการณ์ภูเขาไฟในอลาสก้า
เอนเดอร์ส อธิบายว่า อลาสกา คือ พื้นที่ที่อยู่ในแนวหน้าด้านเทคโนโลยีอยู่เสมอ เพราะมีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่เป็นจำนวนมากและปะทุอยู่บ่อยครั้งจนต้องมีการเฝ้าสังเกตการณ์ตลอดเวลา และด้วยเหตุผลนี้ ผู้คนจากทั่วโลกก็สามารถมาที่อลาสกาเพื่อศึกษาเกี่ยวกับภูเขาไฟได้ไม่ยาก
ไมเคิล โปแลนด์ นักธรณีฟิสิกส์ จาก USGS เช่นกัน กล่าวเสริมว่า การใช้ระบบประมวลผลข้อมูลภูเขาไฟแบบอัตโนมัติที่ดึงมาจากคลาวด์นั้นทำให้ทุกคนปลอดภัยมากยิ่งขึ้นด้วย
โปแลนด์ ชี้ว่า ระบบคลาวด์คือสิ่งที่จะช่วยนำทางไปสู่วิสัยทัศน์ของแนวทางการสังเกตการณ์เสมือนจริงทั่วทั้งโลกจากนานาชาติที่สามารถให้ข้อมูลและวิเคราะห์ผลลัพธ์ในแบบอัตโนมัติและเรียลไทม์ได้ “ซึ่งจะช่วยทำให้การแข่งขันในด้านนี้มีความเท่าเทียมกันได้จริง”
ทั้งนี้ การใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวช่วยให้ Alaska Volcano Observatory ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่าง USGS และสถาบันธรณีฟิสิกส์ แฟร์แบงค์ส แห่งมหาวิทยาลัยแห่งอลาสกา สามารถสรุปข้อมูลความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณภูเขาไฟ เมาท์ เอดจ์คัมบ์ (Mount Edgecumbe) ได้ว่า ไม่มีความเสี่ยงแบบฉับพลันใด ๆ แต่ผู้เกี่ยวข้องได้ติดตั้งเครื่องมือวัดแผ่นดินไหวชุดใหม่ที่ภูเขาไฟลูกนี้เพื่อให้เฝ้าสังเกตการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น