ข้อตกลงเรื่องบรรยากาศโลกที่กรุงปารีสในเดือนธันวาคม มีการลงนามอย่างเป็นทางการกันที่องค์การสหประชาชาติในวันที่ 22 เมษายน ซึ่งเป็นวันโลกในสัปดาห์ที่แล้ว มีบทบัญญัติสำคัญข้อหนึ่งซึ่งจำกัดระดับอุณหภูมิเป้าหมายไว้ที่ 1.5 และ 2.0 องศาเซลเซียส เหนือระดับอุณหภูมิในช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม
ประเทศที่เป็นหมู่เกาะและประเทศกำลังพัฒนา วิ่งเต้นอย่างหนักเพื่อให้ที่ประชุมเลือกระดับอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียส นักภูมิอากาศวิทยา Carl Schleussner ขององค์กร Climate Analytics ในประเทศเยอรมนี บอกว่า อุณหภูมิแค่ครึ่งองศาเซลเซียสส่งผลกระทบที่แตกต่างมาก โดยเฉพาะสำหรับประเทศที่อ่อนแอกว่า
นักวิทยาศาสตร์ผู้นี้บอกว่า ผลการวิจัยของเขายืนยันว่า การจำกัดระดับอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียสในการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก จะปลอดภัยมากกว่า
การศึกษาวิจัยของทีมงานชุดนี้ วิเคราะห์ความแตกต่างของผลกระทบสำหรับการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นระหว่าง 1.5 หรือ 2.0 องศาเซลเซียสตามบริเวณต่างๆ 25 แห่งทั่วโลก โดยพิจารณาดัชนี 11 ตัว ซึ่งมีตั้งแต่ดัชนีผลผลิตการเกษตร น้ำที่มีให้ใช้ได้ อากาศที่หนาวจัดหรือร้อนจัด ไปจนถึงการสูญเสียปะการัง และระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น
ข้อสรุปสำคัญอันหนึ่งของงานชิ้นนี้ คือผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาจะไม่เป็นอย่างเดียวกันทั่วโลก
นักภูมิอากาศวิทยา Carl Schleussner บอกว่า บริเวณที่อยู่ตามเส้นรุ้งตอนเหนืออาจได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก เพราะเมื่ออากาศในบริเวณดังกล่าวอบอุ่นขึ้น สภาวะสำหรับการเพาะปลูกจะดีขึ้น แต่ในเขตร้อน อากาศร้อนขึ้นไม่เป็นประโยชน์เลย
ที่ได้พบเห็นคือผลผลิตข้าวสาลีและข้าวโพดลดลงสองเท่าตัว ในระดับอุณหภูมิที่แตกต่างกันระหว่าง 1.5 กับ 2.0 องศาเซลเซียส
อีกบริเวณหนึ่งที่จะประสบปัญหาคือแถบทะเลเมดิเตอเรเนียน ซึ่งรวมทั้งทวีปแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง
Carl Schleussner บอกว่า งานวิจัยของเขาคาดคะเนไว้ว่า ถ้าอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส แถบเมดิเตอเรเนียนจะมีน้ำใช้ลดลง 10% ต่อปี แต่จะเพิ่มเป็น 20% ถ้าอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2.0 องศาเซลเซียส
และเมื่อคำนึงถึงว่า บริเวณนี้มีปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้อยู่แล้ว ประกอบกับการขาดเสถียรภาพทางการเมือง ทำให้คาดได้ว่า ถ้าอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น จะมีปัญหามากขึ้นในบริเวณนี้อย่างแน่นอน
ในขณะเดียวกัน ปะการังซึ่งเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำและช่วยปกป้องชายฝั่งทะเล อาจปรับตัวได้ถ้าอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส และการเพิ่มระดับน้ำทะเลอาจชะลอตัวลงด้วย
นักภูมิอากาศวิทยาผู้นี้ให้ความเห็นส่งท้ายว่า ผลงานวิจัยของเขายืนยันข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ ตามคำเรียกร้องของประเทศที่ยากจนกว่าและประเทศที่กำลังพัฒนาในการเจรจาที่ปารีส และเป็นเหตุผลที่เหมาะสมสำหรับการดำเนินการในเรื่องนี้
งานศึกษาวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ไว้ในวารสาร Earth System Dynamics ของ European Geosciences Union