โรงเผาอิฐต่างๆ ทั่วเอเชียใต้ ผลิตอิฐได้ราวสามเเสนก้อนต่อปี เเละในอินเดียเพียงประเทศเดียว อุตสาหกรรมผลิตอิฐเพียงอย่างเดียวสร้างเขม่าควันเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์ของเขม่าควันทั้งหมดในประเทศ
เขม่าควันดังกล่าวนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพเเละเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน
Sachin Kumar แห่งสถาบันวิจัยด้านพลังงานในอินเดีย (Energy Research Institute) กล่าวว่า โรงเผาอิฐเกือบทั้งหมดในเอเชียใต้มีเพียงเเบบเดียวเท่านั้นคือเตาเผาอิฐแบบอุโมงค์ที่มีปล่องไฟอยู่ด้านบนที่เรียกว่าเตาเผาอิฐแบบ Bull's trench
เขากล่าวว่าเทคนิคในการเผาก้อนอิฐเเบบนี้ใช้กันมาตั้งเเต่อดีตจนถึงในปัจจุบันในอินเดีย ซึ่งเป็นเตาเผาอิฐที่สร้างมลภาวะทางสิ่งเเวดล้อมสูงและใช้พลังงานมาก
เตาเผาอิฐอุโมงค์ Bull's trench นี้มีมาตั้งเเต่ศตวรรษที่ 19 สถาบันวิจัยด้านพลังงานเเห่งอินเดียเเละสถาบันอื่นๆ ได้พยายามส่งเสริมการเผาอิฐด้วยวิธีอื่นเเทนโดยใช้เตาเผาซิกเเซ็ก ซึ่งตั้งชื่อตามแนวการเคลื่อนตัวของอากาศผ่านก้อนอิฐ
Sachin Kumar แห่งสถาบันวิจัยด้านพลังงานในอินเดีย กล่าวว่า การเผาอิฐในเตาเผาซิกเเซ็กนี้ดีกว่าเตาเผาอิฐใต้อุโมงค์ โดยนอกจากจะช่วยประหยัดพลังงานเเล้ว ยังลดมลภาวะทางอากาศลงด้วย
Kumar กล่าวว่า เขม่าควันดำที่ปล่อยออกมาจากเตาเผาอิฐซิกเเซ็กนี้ต่ำกว่าเตาเผาอิฐเเบบอุโมงค์เกือบ 75 เปอร์เซ็นต์ เเละยังใช้เชื้อเพลิงน้อยลง 15 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เเต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการขาดข้อมูล กฏระเบียบที่หย่อนยานเเละการไม่บังคับใช้ เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง และเจ้าหน้าที่ทางการไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีเตาเผาอิฐตั้งอยู่ที่ใดบ้างในประเทศ
เเต่ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Stanford กำลังร่างเเผนที่เพื่อระบุจุดที่ตั้งของเตาเผาอิฐในอินเดียโดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศ
Stephen Luby นักวิจัยเเห่งมหาวิทยาลัย Stanford ในรัฐแคลิฟอร์เนีย บอกว่าเขามองเห็นเขม่าควันที่ปล่อยออกมาจากเตาเผาอิฐจำนวนมากมายตอนที่กำลังนั่งเครื่องบินผ่านเหนือน่านฟ้าของอินเดีย
เขากล่าวว่านั่นทำให้เขาเกิดความคิดขึ้นมาว่า หากเขาสามารถมองเห็นเตาเผาอิฐเหล่านี้ได้จากเครื่องบิน ก็คงไม่ยากที่จะใช้ภาพถ่ายดาวเทียมช่วยในการระบุจุดที่ัตั้งของเตาเผาอิฐเหล่านี้
Abhilash Sunder Raj สมาชิกในทีมงานของ Luby กล่าวว่า ทีมงานใช้ภาพถ่ายที่มีความละเอียดของภาพสูงจากดาวเทียมดวงหนึ่งของยุโรป เเละใช้ข้อมูลนี้ประกอบกับภาพถ่ายรังสีอินฟราเรดจากเตาเผาอิฐ
เขากล่าวว่า ระบบการคำนวณทางคอมพิวเตอร์ที่ทีมงานใช้สามารถระบุจุดที่ตั้งของเตาเผาอิฐได้อย่างดี ในอำเภอเล็กๆ ที่ทีมงานทำงานค้นหา ทีมงานได้ค้นพบเตาเผาอิฐที่ทีมงานภาคพื้นดินเสาะหาไม่เจอในระหว่างการจัดเก็บข้อมูล
การทำแผนที่ตั้งของเตาเผาอิฐเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ประเด็นสำคัญคือการออกแบบเตาเผาอิฐเสียใหม่ ให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งเเวดล้อมเเละประหยัดพลังงานมากขึ้นเพื่อให้การลงทุนถูกลง เเต่ปรับปรุงเตาเผาอิฐจะทำให้เจ้าของเสียเงินทันที
ทีมนักวิจัยของ Luby วางแผนที่จะศึกษาว่า ผลตอบเเทนใดบ้างที่จะช่วยดึงดูดใจเจ้าของเตาเผาอิฐเเบบดั้งเดิมให้เปลี่ยนมาใช้เตาเผาอิฐเเบบใหม่ เเละ Sachin Kumar นักวิจัย กล่าวว่า เจ้าของเตาเผาอิฐยังต้องการความช่วยเหลือด้านเทคนิคด้วย
เขากล่าวว่า นอกจากอุปสรรคด้านการเงินเเล้ว หนึ่งในอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งคือการขาดเเคลนผู้ให้การบริการและคำปรึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีเตาเผาซิกเเซ็กแบบใหม่ในท้องถิ่น
งานปรับปรุงเตาเผาอิฐนี้เป็นงานใหญ่ เพราะทั่วเอเชียใต้ มีเตาเผาอิฐอุโมงค์เเบบดั้งเดิมอยู่หลายหมื่นเตาด้วยกัน
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)