เมืองใหญ่ๆ อาจจะดูเหมือนไม่ใช่สถานที่ที่ดีที่สุดในการเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งในกรุงวอชิงตันกำลังพยายามเปลี่ยนแปลงสิ่งนั้น
City Blossoms องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งมีเป้าหมายในการนำธรรมชาติมาสู่เด็กๆ ที่อาจขาดแคลนพื้นที่สีเขียว องค์กรนี้ได้ช่วยสร้างพื้นที่สีเขียวในโรงเรียนประถมศึกษา 7 แห่ง โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย 2 แห่ง และศูนย์เด็กปฐมวัยอีก 18 แห่งทั่วกรุงวอชิงตัน
ทั้งนี้ City Blossoms มีนักการศึกษาในองค์กรที่คอยสอนบทเรียนให้แก่เด็กๆ โดยมุ่งเน้นในเรื่องการทำสวนและธรรมชาติ
Tara McNerney ผู้อำนวยการองค์กร City Blossoms ซึ่งเคยเป็นครูมาก่อน กล่าวว่าทางองค์กรเน้นการสอนบทเรียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ทักษะการใช้ชีวิตอย่างถูกสุขลักษณะ เช่น การทำอาหาร และการแสดงออกทางด้านศิลปะ
ภายในสวน นักเรียนสามารถเรียนรู้แนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม เช่น วงจรชีวิตของพืชหรือระบบนิเวศ ส่วนครูสามารถใช้พื้นที่สีเขียวในการสอนวิชาการอ่าน โดยการอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับสวนหรือเรียนรู้คำศัพท์เกี่ยวกับธรรมชาติ หรือแม้แต่วิชาคณิตศาสตร์ก็สามารถสอนในสวนได้เช่นเดียวกัน
City Blossoms จะทำงานร่วมกับโรงเรียนในท้องถิ่นเป็นระยะเวลา 3-4 ปี นอกจากนี้ทางองค์กรได้ช่วยโรงเรียนในการสร้างและดูแลสวน โดยที่โรงเรียนจะเป็นผู้ดูแลสวนเสียส่วนใหญ่ McNerney กล่าวว่า เธอร่วมมือกับโรงเรียนต่างๆ ที่เข้าใจถึงความสำคัญของการศึกษานอกชั้นเรียน และต้องการให้สวนเหล่านั้นอยู่ในโรงเรียนไปอีกนานหลายปี
ที่สวนชุมชนอีก 5 แห่งของ City Blossoms ทางองค์กรช่วยเหลือในการดูแลสวนและจัดกิจกรรมธรรมชาติสำหรับชุมชน แต่เรื่องพื้นที่ต่างๆ ยังคงเป็นหน้าที่ของชุมชน
Isa Zambrano ซึ่งช่วยทำหน้าที่ดูแลพื้นที่ชุมชนให้กับ City Blossoms กล่าวว่า ท้ายที่สุดแล้ว ทางองค์กรก็ไม่ได้เป็นผู้ออกแบบพื้นที่เหล่านี้ แต่ชุมชนเป็นผู้ออกแบบ โดยทุกๆ สวนจะบ่งบอกถึงรูปแบบและวัฒนธรรมของชุมชนนั้นๆ
Kendra Hazel ผู้ดูแลสวนชุมชนให้กับ City Blossoms กล่าวว่า ทั้งเด็กเล็กและผู้สูงอายุต่างได้มีส่วนร่วมกับพื้นที่สีเขียวของชุมชน อย่างเช่นในระหว่างที่เรียนทำอาหาร คนในชั้นเรียนจะเล่าถึงอาหารที่มีความพิเศษเฉพาะในวัฒนธรรมของตน
นอกจากนี้แล้ว สวนชุมชนยังแสดงถึงความหลากหลายของกรุงวอชิงตัน ซึ่งเป็นเหมือนกับการรวบรวมผู้คน วัฒนธรรม และละแวกต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน
อย่างไรก็ดี อาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายนั้นหาได้ยากในบางส่วนของกรุงวอชิงตัน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ยากจน โดยราว 15% ของเมืองนี้ เป็น "Food Desert" หรือพื้นที่ยากจนที่ผู้อยู่อาศัยไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใกล้ที่สุดจะอยู่ห่างออกไปกว่า 1.6 กิโลเมตร และในสองพื้นที่ที่ยากจนที่สุดของวอชิงตัน ดี.ซี. คือ โซน 7 และ 8 มีซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่เพียง 3 แห่งเท่านนั้นสำหรับประชากร 160,000 คน
McNerney ผู้อำนวยการ City Blossoms กล่าวว่า สวน 7 แห่งของ City Blossom อยู่ในสองโซนนั้น ภารกิจส่วนหนึ่งขององค์กรคือการปลูกพืชในพื้นที่ที่อาจขาดแคลนพื้นที่สีเขียว และอาจไม่มีอาหารสดและดีต่อสุขภาพ
สำหรับนักเรียนที่โตแล้วในโรงเรียนมัธยมสองแห่งในกรุงวอชิงตัน นักเรียนจะได้เรียนรู้วิธีปลูกและเก็บเกี่ยวพืชผลผ่านโปรแกรม Mighty Greens ของ City Blossoms นอกจากนี้นักเรียนในโครงการยังได้ขายผักและสมุนไพรที่ตลาดเกษตรกรในท้องถิ่นอีกด้วย
และถึงแม้ว่าเป้าหมายหลักของ City Blossoms คือการสอนเด็กๆ แต่สมาชิกในครอบครัวที่มีอายุมากกว่ารวมถึงผู้ใหญ่ก็สามารถเข้าร่วมได้ เพราะทางองค์กรมีบทเรียนการทำสวนสำหรับคนทุกเพศทุกวัย
Hazel ผู้ดูแลสวนชุมชนให้กับ City Blossoms กล่าวว่า การระบาดใหญ่นี้ทำให้ผู้คนต้องการใช้เวลาอยู่ข้างนอกเพื่อสัมผัสกับธรรมชาติกันมากขึ้น และว่า ผู้คนต่างตื่นตัวกับความจริงที่ว่าพื้นที่สีเขียวมีความสำคัญมากในชุมชนของตน นอกจากนี้ยังตระหนักถึงผลดีของการได้อยู่นอกบ้าน ได้ตัดขาดจากเทคโนโลยี และได้ทำให้มือเปื้อนดินเปื้อนโคลนกันเสียบ้า