สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ชายชาวจีนที่ชื่อว่า หลี่ จิงเหว่ย ไม่เคยทราบแน่ชัดถึงภูมิลำเนาหรืออายุที่แท้จริงของตน เนื่องจากเขาถูกคนร้ายลักพาตัวและนำไปขายในต่างมลฑลตั้งแต่เด็ก
จนกระทั่งเมื่อเดือนที่ผ่าน ความสงสัยเหล่านี้ก็ถูกคลี่คลายไปเมื่อหลี่สามารถตามหาครอบครัวที่แท้จริงของตนเองจนพบด้วยการแกะรอยแผนที่บ้านจากความทรงจำและได้รับความช่วยเหลือจากโซเชียลมีเดีย
ชายวัยเกือบ 40 ปีผู้นี้ เท้าความให้ฟังว่า เมื่อปีค.ศ. 1989 ที่เขามีอายุเพียง 4 ขวบ คนร้ายที่แฝงตัวมาเป็นเพื่อนบ้านเอ่ยปากชักชวนว่าจะพาไปดูรถยนต์ซึ่งในช่วงเวลานั้นเป็นสิ่งที่พบได้ยาก โดยเฉพาะในแถบชนบท หลี่จึงหลงเชื่อและเดินตามเขาไปบริเวณหลังเนินเขาที่มีรถจักรยานยนต์สามคันและมิจฉาชีพสี่คนรออยู่
จากนั้นหลี่ก็ถูกลักพาตัวขึ้นรถไฟไปยังมณฑลเหอหนานซึ่งห่างจากบ้านเกิดของหลี่ที่มณฑลยูนนานราว 1,400 กิโลเมตร เมื่อเขาเดินทางถึงจุดหมายปลายทาง หลี่ก็ถูกขายให้กับครอบครัวใหม่ไป
ปัญหาการลักพาตัวเยาวชนในประเทศจีนนั้นเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากทางการจีนบังคับใช้นโยบายที่อนุญาตให้แต่ละครอบครัวมีบุตรได้เพียงคนเดียว
หลี่เล่าให้เอพีฟังต่อว่า “ผมยังเด็กมาก อายุแค่ 4 ขวบ ยังไม่ได้เริ่มไปโรงเรียนด้วยซ้ำ เลยจำอะไรไม่ได้ รวมทั้งชื่อของพ่อแม่และเมืองที่เป็นบ้านเกิด” อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่หลี่จำได้ขึ้นใจคือทิวเขา ป่าไม้ไผ่และบ่อน้ำในหมู่บ้านซึ่งเป็นสถานที่ที่เขามักไปเที่ยวเล่นเป็นประจำในวัยเด็ก
ภูมิทัศน์ที่มักพบเห็นได้ทั่วไปในประเทศจีนกลายเป็นความหมกหมุ่นเล็กๆของหลี่หลังเขาถูกลักพาตัว หลี่มักจะวาดแผนที่ของจุดสำคัญต่างๆข้างต้นลงบนกระดาษ พื้นดิน และสมุดบันทึกเพื่อช่วยไม่ให้ตนเองลืมบ้านเกิด
สิ่งเหล่านี้กลายมาเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยหลี่ทำการปลดล็อกว่าหมู่บ้านของเขานั้นอยู่ที่เมืองจ้าวตงในมณฑลยูนนาน โดยตอนแรกนั้น หลี่ติดต่อไปยังตำรวจและตรวจสอบข้อมูลดีเอ็นเอจากฐานข้อมูลแต่ก็ไม่พบอะไร แต่อาสาสมัครหลายคนแนะนำให้หลี่โพสต์คลิปวิดีโอบอกเล่าเรื่องราวและใส่แผนที่ที่เขาวาดประกอบลงไปบนแพลตฟอร์มโซเชียลที่ชื่อว่า ตู่หยิน ของจีน
ชายชาวจีนผู้นี้เผยว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจในการตามหาครอบครัวจากข่าวการพบกันอีกครั้งของเด็กที่ถูกพลัดพรากจากครอบครัวในตอนเด็ก อย่างเช่นกรณีของนาย กั๋ว กังถัง ที่หาลูกชายขที่ถูกลักพาตัวของตนจนเจอ หลังพลัดพรากกันยาวนานถึง 14 ปี
คลิปของหลี่บนโลกโซเชียลนั้นมียอดเข้าชมหลายหมื่นครั้ง โดยคนดูบางส่วนเป็นคนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่หลี่วาดลงบนแผนที่ ประจวบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ติดต่อกลับมาหาหลี่ว่าสามารถระบุพื้นที่ที่น่าจะเป็นบ้านเกิดของหลี่ได้แล้วด้วยการตรวจสอบดีเอ็นเออย่างละเอียด
หลี่จึงลองติดต่อกับสตรีรายหนึ่งที่เขาคาดว่าน่าจะเป็นแม่ของเขาผ่านโทรศัพท์ เธอสอบถามหลี่ถึงรอยแผลเป็นบริเวณคางที่เกิดจากอุบัติเหตุการตกบันไดในวัยเยาว์ หลี่จึงรู้ทันทีว่าสตรีคนนั้นเป็นแม่ที่แท้จริง นอกจากนี้ รายละเอียดอื่นๆและผลตรวจสอบดีเอ็นเอที่ตามที่หลังก็ช่วยยืนยันสันนิษฐานข้างต้นด้วย
ในวันปีใหม่ที่ผ่านมา ภาพที่น่าตื้นตันใจก็เกิดขึ้นเมื่อหลี่ทรุดตัวลงและร่ำไห้กับพื้นเพราะเขาได้เห็นหน้าของแม่ตนเองอีกครั้งในรอบกว่า 30 ปี พี่ชายและน้องสาวที่แท้จริงของหลี่จึงรุดเข้ามาช่วยพยุงตัวเพื่อให้หลี่สามารถโผเข้ากอดแม่ได้อย่างเต็มอก
จากนั้น หลี่ได้กล่าวกับสำนักข่าวเอพีด้วยเสียงสะอื้นว่า เขาเพิ่งทราบว่าพ่อที่แท้ได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่ทั้งนี้ หลี่ซึ่งมีครอบครัวและบุตรสองคนก็ตั้งใจที่จะพาลูกๆของเขาไปไหว้พ่อที่สุสานในช่วงเทศกาลตรุษจีนตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์
เขาทิ้งท้ายว่า “มันจะเป็นการกลับมาพบกันอีกครั้งหนึ่งที่แท้จริง และผมอยากจะบอกพ่อว่าลูกชายของพ่อกลับมาหาพ่อแล้วนะครับ”
(ที่มา สำนักข่าวเอพี)