ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ศิลปินจีนจัดแสดงประติมากรรมในสหรัฐฯ วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลปักกิ่ง


ป้ายสวน Liberty Sculpture Park ในรัฐแคลิฟอร์เนีย
ป้ายสวน Liberty Sculpture Park ในรัฐแคลิฟอร์เนีย

สำหรับเหล่าศิลปินชาวจีนที่มีความเห็นไม่ตรงกับพรรคคอมมิวนิสต์ที่ทำหน้าที่ปกครองประเทศ หากต้องการสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่อแสดงจุดยืนของตน ทางเลือกที่เป็นไปได้และปลอดภัยที่สุดก็คือ การออกไปผลิตผลงานนอกประเทศจีน

หนึ่งในศิลปินจีนที่เห็นต่างและต้องการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลกรุงปักกิ่ง คือ เวยมิง เฉิน ซึ่งเป็นประติมากร และปัจจุบัน นำเสนอผลงานของตนอยู่ที่บริเวณทะเลทรายในรัฐแคลิฟอร์เนีย

เวยมิง เฉิน และผลงานรำลึกถึงเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน
เวยมิง เฉิน และผลงานรำลึกถึงเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน

ผลงานประติมากรรมของ เวยมิง เฉิน ที่ชื่อว่า “64” อ้างอิงตัวเลขมาจาก วันที่ 4 เดือนมิถุนายน หรือเดือน 6 ในปี ค.ศ. 1989 ที่เกิดเหตุปราบปรามการประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขาบอกว่า เปลี่ยนงานศิลปะของเขาไปตลอดกาล

เวยมิง เฉิน นักประติมากรจีน
เวยมิง เฉิน นักประติมากรจีน

เฉิน กล่าวว่า ในช่วงที่เกิดเหตุนั้น ภรรยาของเขายังอยู่ที่บริเวณจัตุรัสเทียนอันเหมิน ซึ่งทำให้เขาเป็นห่วงมาก เพราะไม่ทราบข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์และตัวภรรยาเลย และเห็นแต่ภาพรถถังวิ่งชนคน แม้ประชาชน เหล่านักศึกษาจะถอยแล้วก็ตาม

ในช่วงนั้น เฉินทำงานอยู่ที่นิวซีแลนด์ แต่ตัดสินใจละทิ้งงานการสร้างประติมากรรมน้ำพุที่นั่นและหันมามุ่งมั่นสร้างศิลปะสะท้อนการเมือง โดยศิลปินคนนี้เดินทางมายังสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2017 และเข้าร่วมกับกลุ่มคนที่ซื้อที่ดินบริเวณทะเลทรายในรัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อสร้างสวนซึ่งมีชื่อว่า "Liberty Sculpture Park"

ผลงานอีกชิ้นของเฉินที่ชื่อว่า “CCP Virus II” เป็นประติกรรมคล้ายศีรษะของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และมีแท่งหนามทิ่มแทงออกมา เพื่อสื่อถึงโมเลกุลขนาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส โดยต้องการที่จะวิจารณ์บทบาทของรัฐบาลจีนต่อการเกิดโรคระบาดใหญ่

ผลงานชิ้นนี้ถูกสร้างขึ้นเป็นครั้งที่สอง หลังจากที่ประติกรรมชิ้นแรกถูกทำลายโดยกลุ่มคนที่อ้างว่าทำงานให้กับกรุงปักกิ่ง โดย

จากเหตุดังกล่าว กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้ตั้งข้อหาต่อชายสองคนต่อ “การทำลายงานศิลปะของศิลปินผู้เห็นต่างที่ผลงานของเขาเป็นการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล (จีน)” แต่กระทรวงการต่างประเทศจีนชี้แจ้งว่า ข้อกล่าวหาเหล่านั้น ถือเป็น“การกล่าวหาที่ไม่มีเหตุผล และเป็นการป้ายสี” ต่อประเทศ(จีน)

เชียน ยาน อาสาสมัครที่ทำงานในสวน Liberty Sculpture Park แสดงความเห็นว่า “เป็นเรื่องสำคัญ ที่โลกต้องรู้ว่า รัฐบาลจีนไม่เพียงแต่ทำร้ายชาวจีนเท่านั้น แต่ยังทำร้ายคนทั่วทั้งโลก” ด้วย

ผู้สื่อข่าวได้พบกับ นิโคลัส โจนส์ นักท่องเที่ยวที่แวะเยี่ยมชมสวนดังกล่าวระหว่างเดินทางจากเมืองลาส เวกัส เพื่อกลับบ้าน

นิโคลัส โจนส์ นักท่องเที่ยวอเมริกัน
นิโคลัส โจนส์ นักท่องเที่ยวอเมริกัน

โจนส์ บอกว่า ประติมากรรมชิ้นนี้เป็นงานที่มีพลังอย่างมาก และมีการอุปมาอุปไมยที่ทรงพลังเช่นกัน พร้อมกล่าวว่า หากศิลปินคนไหนไปสร้างงานเช่นนี้ในประเทศจีนก็คงถูกสั่งประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าไปแล้ว และระบุด้วยว่า โดยส่วนตัวแล้ว เขาคิดว่า “นี่เป็นนิทรรศการที่ยอดเยี่ยม ผู้คนควรที่จะเรียนรู้เรื่องราวจากงานเหล่านี้”

ผลงานล่าสุดของเฉิน คือ “Chained Woman Sculpture” เพื่อที่จะอุทิศให้แก่หญิงคนหนึ่งที่ถูกพบเมื่อสองปีก่อนในหมู่บ้านชนบทของจีนในสภาพถูกล่ามโซ่ที่คอติดกับกำแพง โดยเธอถูกบังคับให้ทำหน้าที่คลอดลูกออกมาถึงแปดคน

เวยมิง เฉิน และผลงานวิพากษ์วิจารณ์จีน
เวยมิง เฉิน และผลงานวิพากษ์วิจารณ์จีน

เฉินอธิบายถึงความหมายของงานชิ้นนี้ว่า สิ่งที่อยู่ด้านหลังของรูปปั้นผู้หญิงที่ถูกล่ามโซ่ เป็นตัวอักษรที่เขียนว่า ประเทศจีน เพื่อสื่อว่า จีนเหมือนคุกขนาดใหญ่ และมีหน้าต่างเหล็กดัดของคุกอยู่ด้วย ส่วนฐานด้านล่างเป็นแผนที่ของประเทศจีน และด้านบนแสดงสัญลักษณ์คล้ายดาวห้าดวงบนธงชาติจีน

เฉินเสริมว่า “ทั่วทั้งประเทศจีน มีผู้หญิงจำนวนมาก ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้”

ศิลปินท่านนี้กล่าวทิ้งท้ายว่า สวน Liberty Sculpture Park ไม่ได้จำกัดเฉพาะงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับจีนเท่านั้น แต่ยังเปิดรับชิ้นงานของศิลปินคนอื่น ที่ต้องการสะท้อนความคิดผ่านงานศิลป์ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

  • ที่มา: วีโอเอ

XS
SM
MD
LG