ช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ จีนจัดส่งความช่วยเหลือมากมายไปยังประเทศที่ได้รับผลกระทยอย่างหนักจากโคโรนาไวรัส โควิด-19 ซึ่งรวมถึงการส่งชุดตรวจให้กัมพูชา หน้ากากอนามัยและบุคลากรทางการแพทย์ไปยังอิตาลี อิหร่าน และอิรัก ตลอดจนรับปากว่าจะยื่นมือเข้าช่วยฟิลิปปินส์ สเปน และประเทศอื่นๆ ตามรายงานของ The Guardian
ช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ จีนจัดส่งความช่วยเหลือมากมายไปยังประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโคโรนาไวรัส โควิด-19 ซึ่งรวมถึงการส่งชุดตรวจให้กัมพูชา หน้ากากอนามัยและบุคลากรทางการแพทย์ไปยังอิตาลี อิหร่าน และอิรัก ตลอดจนรับปากว่าจะยื่นมือเข้าช่วยฟิลิปปินส์ สเปน และประเทศอื่นๆ ตามรายงานของ The Guardian
ยังไม่รวมที่ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง กล่าวยืนยันความร่วมมือและถ้อยคำปลอบประโลมนายกรัฐมนตรีสเปน เปโดร ซานเชส ว่า "ดวงตะวันจะทอแสงอีกครั้งหลังพายุผ่านพ้นไป"
เวลานี้จีนกำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการต่อสู้กับโคโรนาไวรัส ที่มีศูนย์กลางการระบาดมาจากเมืองอู่ฮั่นของจีนเอง ก่อนที่จะลุกลามไปใน 166 ประเทศทั่วโลก ทำให้มีผู้ติดเชื้อแล้วเกือบ 250,000 คน เสียชีวิตแล้วเกือบ 10,000 คน
ในขณะที่สถานการณ์ของจีนเริ่มดีขึ้น การใช้ "อำนาจนุ่ม" ของจีนเพื่อช่วยประเทศอื่น ๆ ดูเหมือนจะเป็นสร้างอิทธิพลของจีนบนเวทีโลกมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน
เห็นได้จากในการแถลงข่าวที่ทำเนียบขาว ประธานาธิบดีทรัมป์ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวในเรื่องที่ว่า เหตุใดจึงใช้คำพูดพาดพิงถึงไวรัส COVID-19 ว่า "ไวรัสจีน" ซึ่งผู้นำสหรัฐฯ ยืนยันว่าเรียกตามแหล่งที่มาของไวรัสนี้ และจะไม่ยอมเปลี่ยนคำเรียกดังกล่าว
สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ในการโทรศัพท์เพื่อพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีอิตาลี จุยเซ็ปเป้ คอนเต้ ในสัปดาห์นี้ ประธานาธิบดีสี กล่าวว่าตนต้องการจะสร้าง "เส้นทางสายไหมด้านสาธารณสุข" ขึ้นมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "หนึ่งถนน-หนึ่งวงแหวน" ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นความพยายามขยายอิทธิพลทางการค้าและเศรษฐกิจของจีนไปทั่วโลก
โนอาห์ บาร์กิน นักวิชาการอาวุโสแห่ง German Marshall Fund กล่าวว่า ไม่มีอะไรผิดหากจีนต้องการจะช่วยเหลือประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะยุโรป หลังจากที่จีนสามารถควบคุมสถานการณ์โคโรนาไวรัสในประเทศตัวเองได้สำเร็จ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากเรื่องนี้คือการที่จีนใช้โฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองแฝงมาด้วย
นักวิชาการผู้นี้มองว่า การที่จีนพยายามยื่นมือเข้าช่วยอิตาลีหรือสเปน คือการพยายามแสดงให้ทั่วโลกเห็นว่า รัฐบาลปักกิ่งสามารถเอาชนะไวรัสมรณะตัวนี้ได้สำเร็จ และต้องการแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่กำลังประสบปัญหาในประเทศตัวเอง
"ในขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์กำลังใช้นโยบายห้ามชาวยุโรปเข้าประเทศ จีนกำลังโอบอุ้มยุโรปไว้ด้วยความเห็นอกเห็นใจและไม่เห็นแก่ตัว" นายบาร์กินกล่าว
ความพยายามดังกล่าวของจีนดูเหมือนจะได้ผลไม่น้อย เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศของอิตาลี โพสต์วิดีโอที่ตนเองกำลังมองภาพทางโทรทัศน์แสดงให้เห็นเครื่องบินนำความช่วยเหลือและคณะแพทย์จากจีนมายังอิตาลี ซึ่งถือเป็นประเทศแรกที่เข้าช่วยอิตาลีในช่วงเวลาวิกฤตินี้
ขณะที่ประธานาธิบดีเซอร์เบีย อเล็กซานดาร์ วูซิช กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า "ตนเชื่อมั่นใน สี จิ้นผิง ซึ่งเป็นเสมือนเพื่อนและพี่ชาย" และว่า "ประเทศเดียวที่ช่วยเราได้ คือจีน"
นายบาร์กิน เชื่อว่า นอกจากเป็นการแสดงศักยภาพของจีนในด้านสาธารณสุขโลกแล้ว ปักกิ่งยังส่งสัญญาณไปถึงประชาชนในประเทศด้วยว่า จีนได้ก้าวผ่านวิกฤติของตนเองจนสามารถยื่นมือเข้าช่วยประเทศอื่นได้แล้วด้วย
อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์บางคนยังคงตำหนิถึงการตอบสนองของจีนในช่วงแรก ๆ ของการระบาด ดังที่เห็นจากความเห็นของผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งที่บอกว่า
"เมื่อท่อน้ำบ้านคุณแตกจนน้ำทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนของเพื่อนบ้านคนอื่น นั่นคงไม่ใช่ยุคทองเหมือนที่คุณบอกไว้เท่าไรนัก"
(เรียบเรียงรายงานจาก The Guardian, Bloomberg และ VOA)