ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นักวิเคราะห์เชื่อจีนเปลี่ยนชื่อหลายพื้นที่พิพาทในเอเชียเพื่อหวังผลอ้างสิทธิระยะยาวในศาลระหว่างประเทศ


FILE - Residents rest near a map of China near a shopping district in Beijing on May 8, 2021.
FILE - Residents rest near a map of China near a shopping district in Beijing on May 8, 2021.
Why China Renaming Territories
please wait

No media source currently available

0:00 0:05:20 0:00


จีนมีกรณีพิพาทจากการอ้างสิทธิเหนือพื้นที่หลายแห่งในเอเชีย นับตั้งแต่หมู่เกาะในทะเลจีนใต้ ในทะเลจีนตะวันออก รวมถึงพื้นที่ภูเขาในเอเชียใต้ และนักวิเคราะห์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเชื่อว่าจีนจงใจเปลี่ยนชื่อพื้นที่ซึ่งเป็นกรณีโต้แย้งบางแห่งเพื่อสร้างความสนับสนุนจากภายในประเทศและหวังเพื่อใช้กล่าวอ้างเป็นหลักฐานในศาลระหว่างประเทศในอนาคตด้วย

เมื่อปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว กระทรวงกิจการพลเรือนของจีนประกาศว่า ได้มีการใช้ตัวอักษรภาษาจีนสำหรับชื่อสถานที่ 15 แห่งในรัฐอรุณาจัลประเทศของอินเดียซึ่งเป็นกรณีพิพาทอยู่กับจีนทั้งนี้เพื่อสร้างความเป็นมาตรฐานให้กับชื่อของสถานที่เหล่านี้ โดยหนังสือพิมพ์ Global Times ของจีนรายงานว่า สถานที่ทั้ง 15 แห่งประกอบด้วยบริเวณที่อยู่อาศัยของประชาชน 8 แห่ง ภูเขา 4 ลูก แม่น้ำ 2 สายและช่องเขาอีกหนึ่งช่องด้วย

Lian Xiangmin ผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งของจีนกล่าวกับหนังสือพิมพ์ Global Times ว่า ชื่อภาษาจีนสำหรับสถานที่ทั้ง 15 แห่งนี้สอดคล้องกับความพยายามในระดับชาติเพื่อสร้างมาตรฐานที่เป็นระเบียบสำหรับการบริหารจัดการชื่อสถานที่ต่างๆ และว่า เรื่องนี้เป็นสิทธิอันชอบธรรมตามหลักอำนาจอธิปไตยของจีนด้วย

แต่นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวกับ วีโอเอ ว่า ตนเชื่อว่าผู้นำของจีนเปลี่ยนชื่อสถานที่ 15 แห่งให้เป็นภาษาจีนเพื่อช่วยย้ำเตือนประชาชนในประเทศเรื่องการอ้างกรรมสิทธิ์ ในขณะที่พยายามสร้างแรงกดดันต่อประเทศคู่กรณีด้วย นอกจากนั้น การดำเนินการในเรื่องนี้ยังจะช่วยสร้างพื้นฐานข้ออ้างสำหรับการนำกรณีพิพาทเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลระหว่างประเทศในอนาคตได้

โดย Scott Harold นักรัฐศาสตร์อาวุโสของหน่วยงานวิจัย Rand Corporation ของสหรัฐฯ เชื่อว่า จีนมองเรื่องนี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของสงครามจิตวิทยาเพื่อพยายามตีกรอบและกำหนดทิศทางสำหรับประเด็นที่จะพูดถึงในข้อขัดแย้งเรื่องดินแดนหรือพื้นที่ต่างๆ

อย่างในกรณีข้อขัดแย้งกับญี่ปุ่นและไต้หวันเกี่ยวกับหมู่เกาะซึ่งไม่มีคนอาศัยอยู่ในทะเลจีนตะวันออกซึ่งญี่ปุ่นเป็นผู้ครอบครองอยู่และญี่ปุ่นเรียกว่าหมู่เกาะเซนกากุนั้น จีนได้เรียกหมู่เกาะเดียวกันนี้ว่า เตียวหยู มานานเกือบ 70 ปีแล้ว

อย่างไรก็ตาม จีนก็ไม่ใช่ประเทศเดียวที่ตั้งชื่อพื้นที่ๆ เป็นกรณีพิพาทให้เป็นภาษาของตน เพราะมีประเทศอื่นๆในเอเชีย เช่นฟิลิปปินส์ ที่เรียกทะเลจีนใต้ว่า ”ทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก” เช่นกัน

ส่วนอาจารย์ Alan Chong ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ S. Rajaratnam School of International Studies ชี้ว่า นักทำแผนที่ของจีนมักตั้งชื่อสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นเป้าหมายให้สอดคล้องกับบทบาทของจีนในอดีต อย่างเช่น ปักกิ่งได้อ้างว่าเรือประมงของจีนแล่นไปมาในทะเลจีนใต้เมื่อ 2,000 ปีที่แล้ว ดังนั้นจึงตั้งชื่อหมู่เกาะเล็กๆในทะเลจีนใต้ให้สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ดังกล่าว เป็นต้น

นอกจากนั้น รัฐบาลกรุงปักกิ่งยังใช้เหตุผลเรื่องนี้สนับสนุนแผนที่เส้นไข่ปลา 9 จุดเพื่ออ้างกรรมสิทธิ์เหนือบริเวณ 90% ของพื้นที่ 3 ล้าน 5 แสนตารางกิโลเมตรในทะเลจีนใต้ ตั้งแต่เกาะฮ่องกงจนถึงบอร์เนียว โดยระบุว่า แผนที่เส้นไข่ปลา 9 จุดนี้สะท้อนรูปแบบและลักษณะการเดินเรือประมงของจีนในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมาเช่นกัน

แต่นอกจากการตั้งชื่อพื้นที่และอาณาเขตต่างๆ ซึ่งเป็นกรณีขัดแย้งกับต่างประเทศให้เป็นภาษาจีนแล้ว จีนยังใช้สีของแผนที่เพื่อสนับสนุนคำกล่าวอ้างอำนาจอธิปไตยของตนด้วย ตัวอย่างเช่น จีนให้สีเกาะไต้หวันเป็นสีเดียวกับจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อช่วยย้ำว่า ไต้หวันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของจีน

ส่วนนักวิเคราะห์อีกคนหนึ่ง คือ อาจารย์ Alexander Vuving จากศูนย์ศึกษาความมั่นคง Daniel K. Inouye Asia-Pacific Center for Security Studies ในรัฐฮาวายก็เชื่อว่า จีนหวังว่า จะสามารถใช้ประโยชน์จากการตั้งชื่อดินแดนซึ่งเป็นกรณีพิพาทนี้ในกระบวนการทางกฎหมาย หากมีการพิจารณาคดีในศาลระหว่างประเทศขึ้นมา เพราะพื้นฐานประการแรกสำหรับการอ้างว่า ตนมีอำนาจในการบริหารและปกครองพื้นที่ใดจะเริ่มจากการตั้งชื่อสถานที่นั้นๆ นั่นเอง

และเกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจารย์ Alan Chong ก็เสริมว่า จีนอาจจะรอจังหวะที่เหมาะสมเช่นอีก 50 ปีต่อจากนี้ โดยเมื่อเวลาและสถานการณ์อำนวยจีนอาจตัดสินใจนำกรณีพิพาทเข้าสู่การพิจารณาของศาลโลก ซึ่งหากเมื่อถึงจุดนั้นจีนก็พร้อมที่จะอ้างว่า ตนมีทั้งแผนที่และหลักฐานซึ่งยืนยันว่าดินแดนที่เป็นกรณีพิพาทดังกล่าวได้รับการตั้งชื่อเป็นภาษาจีนเมื่อ 50 ปีที่แล้วนั่นเอง

XS
SM
MD
LG