ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สินแร่หายากหรือ rare earth คืออะไรและทำไมจึงกลายเป็นประเด็นขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ?


สหรัฐ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลกหรือ WTO ในวันนี้ กล่าวหาจีนว่าควบคุมจำกัดการส่งออกสินแร่หายากซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในสินค้า Hi-tech หลายประเภทเช่นโทรทัศน์จอแบนหรือโทรศัพท์มือถือ Smart phone

ประธานาธิบดีสหรัฐ Barack Obama กล่าวหาว่าจีนพยายามควบคุมปริมาณการส่งออกสินแร่หายากซึ่งขัดกับกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศ และขณะนี้สหรัฐกำลังเตรียมยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลกแล้ว ส่วนทางผู้แทนการค้าสหรัฐ Ron Kirk ระบุว่าจีนได้ลดการส่งออกสินแร่หายากลงในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทำให้บริษัทในประเทศจีนได้เปรียบอย่างไม่ยุติธรรมในการผลิตสินค้าไฮเทค

อย่างไรก็ตาม ทางการจีนตอบโต้ว่าจีนต้องจำกัดการส่งออกสินแร่หายากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพื่อให้พอสนองความต้องการในประเทศจีนเอง และเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทำเหมือง โดยปัจจุบันจีนคือผู้ควบคุมปริมาณสินแร่หายากสำรองของโลกไว้ประมาณ 95%

สินแร่หายากนั้นหมายรวมถึงกลุ่มธาตุ 17 ชนิด เรียกรวมๆว่ากลุ่มธาตุแลนทาไนด์ (Lanthanide) ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายเหล็กแต่มีความแตกต่างจากธาตุอื่นๆ ส่วนสาเหตุที่เรียกว่าสินแร่หายากนั้น คุณ Jeffrey Post แห่งสถาบันสมิธโซเนี่ยนบอกว่า จริงๆแล้วควรเรียกว่าสินแร่หลบซ่อนมากกว่าสินแร่หายาก เนื่องจากสินแร่เหล่านี้ส่วนใหญ่พบบริเวณเปลือกโลก และที่บอกว่าหายากก็เพราะแร่ต่างๆที่ประกอบเป็นสินแร่ชนิดนี้มักจะไม่อยู่รวมกลุ่มในที่ๆเดียวกันทำให้ยากต่อการขุดเจาะเพื่อทำเหมืองแร่ชนิดนี้

สำหรับสินแร่หายากที่นำมาใช้ในทางอุตสาหกรรมมีอยู่ 5 ประเภท คือสแคนเดียม (Scandium) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมัน โพรมีเทียม (Promethium) ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่พลังงานนิวเคลียร์ แลนทานัม (Lanthanum) ใช้ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และกล้องถ่ายรูป อิตเทรียม (Yttrium) ใช้ในการผลิตโทรทัศน์และเตาอบไมโครเวฟ และเพรซีโอดีเมียม (Praseodymium) ซึ่งใช้อุตสาหกรรมผลิตใยแก้วนำแสงและเครื่องยนต์ของเครื่องบิน

ทางด้านคุณ Patrick Chovanec ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และการจัดการที่มหาวิทยาลัย Tsinghua ให้ความเห็นว่า การที่จีนควบคุมการส่งออกสินแร่หายากและวัตถุดิบสำคัญต่างๆนั้น ทำให้บริษัทผลิคสินค้าไฮเทคของจีนได้เปรียบบริษัทต่างชาติเนื่องจากมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า และอีกนัยหนึ่งคือจีนกำลังพยายามกดดันให้บริษัทผลิตสินค้าไฮเทคต่างชาติย้ายฐานการผลิตเข้าไปในจีน

ศาสตราจารย์ Chovanec ชี้ว่าปัจจัยที่ทำให้จีนสามารถผูกขาดได้นั้นไม่ใช่เพราะจีนมีแหล่งวัตถุดิบมากกว่า แต่เป็นเพราะจีนสามารถผลิตสินค้าได้ถูกกว่าทำให้คู่แข่งต้องยอมออกจากธุรกิจไป นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเวลานี้บริษัทเทคโนโลยีจากประเทศต่างๆ จึงพากันเล็งไปที่แหล่งวัตถุดิบแหล่งใหม่ทั้งในเอเซียกลางและที่อื่นๆหลังจากจีนควบคุมการส่งออกวัตถุดิบสำคัญซึ่งรวมถึงสินแร่หายากด้วย

XS
SM
MD
LG