ลิ้งค์เชื่อมต่อ

ประชากรจีนลดลงสองปีติดต่อกัน ห่วงกระทบเศรษฐกิจระยะยาว


ชายชราในกรุงปักกิ่ง ขณะเข็นรถเข็นที่ไม่มีคนนั่ง เมื่อ 16 มกราคม 2024 (ที่มา: รอยเตอร์)
ชายชราในกรุงปักกิ่ง ขณะเข็นรถเข็นที่ไม่มีคนนั่ง เมื่อ 16 มกราคม 2024 (ที่มา: รอยเตอร์)

ประชากรจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีจำนวนลดลงสองปีติดต่อกันจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน สร้างความกังวลว่าจะมีผลกระทบระยะยาวต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ตามการรายงานของรอยเตอร์

สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานว่า จำนวนประชากรในจีนลดลงไป 2 ล้าน 8 หมื่นคน คิดเป็น 0.15% ของประชากรทั้งหมดที่มีจำนวน 1,409 ล้านคน ในปี 2023

ตัวเลขดังกล่าวลดลงกว่ายอดในปี 2022 ที่มีจำนวน 850,000 คน ซึ่งนับเป็นปีแรกที่จำนวนประชากรหดตัว นับตั้งแต่เหตุทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในสมัยผู้นำสูงสุด เหมา เจ๋อตุง เมื่อปี 1961

จำนวนผู้เสียชีวิตรวมในปี 2023 เพิ่มขึ้น 6.6% นับเป็นจำนวน 11.1 ล้านคน นับเป็นยอดการเสียชีวิตที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ปฏิวัติวัฒนธรรมเมื่อปี 1974 ขณะเดียวกัน ยอดการเกิดก็ลดลง 5.7% หรือ 9 ล้าน 2 หมื่นคน นับเป็นอัตราส่วนที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ที่ 6.39 คน ต่อประชากร 1,000 คน ลดลงจากปี 2022 ที่ 6.77 ต่อประชากร 1,000 คน

อัตราการเกิดในจีนหดตัวลงมาหลายศตวรรษ โดยมีผลพวงจากนโยบายให้ประชาชนมีลูกคนเดียวในช่วงปี 1980-2015 และการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ที่ตามมาด้วยการย้ายถิ่นจากชนบทสู่เมือง ซึ่งมีต้นทุนการเลี้ยงลูกที่สูงกว่า

ไม่เพียงเท่านั้น ปัญหาการว่างงานของคนวัยหนุ่มสาวที่สูงเป็นประวัติการณ์ รายได้พนักงานออฟฟิศที่ลดลง และวิกฤตการเงินในภาคส่วนอสังหาริมทรัพย์ในปี 2023 ก็ล้วนเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนให้คนตัดสินใจไม่มีลูก

โจว หยุน นักประชากรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน กล่าวว่า จากการสังเกตการณ์ประเทศที่อัตราการเกิดต่ำ พบว่าการเกิดที่ลดลงนั้น บ่อยครั้งก็ยากที่จะกลับมาสูงขึ้น

รอยเตอร์รายงานว่า ข้อมูลจากสำนักงานสถิติยิ่งกระตุ้นความกังวลว่า ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกนี้ กำลังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง โดยในระยะยาวจะมีจำนวนผู้บริโภคและแรงงานน้อยลง ในขณะที่มีต้นทุนในการดูแลจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น

ในปีที่แล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศว่าผู้หญิงต้อง “สนองรับวัฒนธรรมการแต่งงานและการมีบุตรแบบใหม่” โดยผูกโยงเรื่องดังกล่าวเข้ากับการพัฒนาชาติ

ที่ผ่านมารัฐบาลท้องถิ่นได้ประกาศมาตรการต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้ประชาชนมีบุตรเช่น การลดหย่อนภาษี เพิ่มวันลาเลี้ยงลูก รวมถึงลดหย่อนค่าบ้าน แต่เนื่องจากปัญหาขาดแคลนงบประมาณ ทำให้หลายนโยบายยังไม่ถูกบังคับใช้ ตามการรายงานจากศูนย์นโยบายปักกิ่ง ที่เรียกร้องให้มีนโยบายช่วยเหลือครอบครัวในแบบทั่วประเทศแทน

รอยเตอร์รายงานว่า อัตราการแต่งงานที่กลับมากระเตื้องขึ้นในปี 2023 หลังคลายล็อกมาตรการโควิด-19 เมื่อปลายปี 2022 ก็อาจทำให้อัตราการเกิดเพิ่มขึ้นได้

  • ที่มา: รอยเตอร์

กระดานความเห็น

XS
SM
MD
LG