ลิ้งค์เชื่อมต่อ

นานาชาติหวั่นใจการบังคับใช้กม.ความมั่นคงใหม่ของจีนในฮ่องกง


กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ที่รัฐบาลจีนอนุมัติให้ฮ่องกงมีผลบังคับใช้แล้ว ทำให้หลายฝ่ายเกิดความวิตกกังวลและกระวนกระวายใจ โดยเฉพาะกลุ่มนักเคลื่อนไหวและผู้ที่มีความเห็นต่าง ด้วยความกลัวบทลงโทษที่นำมาใช้จากนี้ไป

สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ลงนามรับรองกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ ที่คณะกรรมาธิการสภาประชาชนแห่งชาติจีนมีมติอนุมัติใช้ในฮ่องกงในวันอังคารตามเวลาท้องถิ่น โดยรายงานข่าวระบุว่า หลังจากนี้ ทางการจีนจะเพิ่มเติมมาตรการใหม่ต่างๆ ของกฎหมายนี้เข้าไปในอนุรัฐธรรมนูญของฮ่องกงต่อไป

นางแครี่ แลม ผู้บริหารเกาะฮ่องกง เผยว่า กฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในช่วงค่ำของวันอังคาร ซึ่งเป็นวันก่อนวันครบรอบ 23 ปีที่อังกฤษส่งมอบคืนเกาะฮ่องกงให้จีน

กฎหมายฉบับใหม่ที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งผ่านออกมาใช้งานในฮ่องกงนี้ มีจุดประสงค์เพื่อหยุดยั้งการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ดำเนินมาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่มีความผิดฐานพยายามแบ่งแยกดินแดน ล้มล้างการปกครอง ก่อการร้าย และสมคบคิดกับต่างชาติเพื่อทำการใดๆ

สำนักข่าวซินหัว รายงานโดยอ้างคำพูดของ หลี่ จานชู ประธานคณะกรรมาธิการสภาประชาชนแห่งชาติจีน ว่า กฎหมายใหม่นี้ร่างออกมาตามหลักการของ “การลงทุนคนกลุ่มน้อยเพื่อปกป้องคนส่วนใหญ่” และเพื่อปกป้องและรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงระยะยาวของฮ่องกง

ขณะที่ยังไม่มีใครได้เห็นรายละเอียดของกฎหมายความมั่นคงฉบับล่าสุดนี้ รายงานข่าวสื่อท้องถิ่น อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับกรณีนี้ว่า ผู้บริหารของฮ่องกงและหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติใหม่ที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งตั้งขึ้นในฮ่องกงสามารถส่งตัวผู้กระทำความผิด “ร้ายแรง” ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงไปขึ้นศาลในจีนแผ่นดินใหญ่ได้ และว่าโทษของผู้กระทำความผิดนั้นเป็นการจำคุกที่เริ่มตั้งแต่ 3 ถึง 10 ปี รวมทั้งการจำคุกตลอดชีวิตในบางกรณีด้วย

หลังมีการประกาศบังคับใช้กฎหมายใหม่ ตัวแทนกลุ่มเคลื่อนไหวด้านการเมืองที่เป็นที่รู้จักกันทั่ว อาทิ โจชัว หว่อง นาธาน ลอว์ และแอกเนส เชา ประกาศยุติการทำงานของกลุ่มทันที ขณะที่ กลุ่มสนับสนุนความเป็นเอกราชของฮ่องกงอีก 2 กลุ่มออกมาประกาศปิดตัวลงเช่นกัน

นักวิชาการด้านการเมืองให้ความเห็นว่า กฎหมายเข้มฉบับนี้จะทำได้เพียงสร้างเสถียรภาพแบบผิวเผินให้ฮ่องกง แต่จะทำให้ประชาชนในฮ่องกงไม่พอใจขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่เป็นการดีในระยะยาว และหลายคนมองว่า นี่คือจุดสิ้นสุดของนิยาม “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ที่ได้ยินกันมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 1997 ด้วย

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า โฆษกสภาความมั่นคงแห่งทำเนียบขาว จอห์น อุลยอต กล่าวว่า เมื่อความสัมพันธ์ของจีนและฮ่องกงได้เปลี่ยนเป็นระบบ “หนึ่งประเทศ หนึ่งระบบ” แล้ว สหรัฐฯ ก็ต้องเปลี่ยนเช่นกัน พร้อมย้ำว่า สหรัฐฯ จะดำเนินการต่างๆ กับผู้ที่จะมาควบคุมเสรีภาพและเอกราชของฮ่องกงต่อไป

ขณะเดียวกัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แนนซี่ เปโลซี่ เรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรและดำเนินมาตรการต่างๆ กับจีน และกล่าวว่า กฎหมายที่ “โหดร้าย” มีแต่จะทำให้ผู้ที่แสวงหาอิสรภาพด้วยวิธีสันติ “รู้สึกกลัว ถูกข่มขู่และถูกปราบปราบ”

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ โดมินิค ราบ เรียกกฎหมายฉบับใหม่ของจีนนี้ว่าเป็น “ก้าวย่างที่อันตราย” และให้ความเห็นว่า จีนเลือกที่จะละเมิดสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนชาวฮ่องกงด้วย

และสหภาพยุโรปออกมาเตือนจีนเกี่ยวกับผลสืบเนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายใหม่นี้ ซึ่งนักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตย ทูตานุทูต และกลุ่มนักธุรกิจมากมายเชื่อว่าจะส่งผลเสียต่อสถานะกึ่งปกครองตนเอง และบทบาทการเป็นศูนย์กลางการเงินโลกของฮ่องกง โดยประธานสภาสหภาพยุโรป ชาร์ลส มิเชล กล่าวระหว่างการแถลงข่าวในวันอังคารว่า สหภาพยุโรปรู้สึกเสียใจกับการตัดสินใจดำเนินการดังกล่าวของจีน ขณะที่ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลญี่ปุ่น กล่าวว่า กฎหมายใหม่นี้เป็นเรื่อง “น่าเศร้า” และจะทำลายความน่าเชื่อถือของวิถีของ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ด้วย

XS
SM
MD
LG