เหตุการณ์โจมตี นสพ.แนวเสียดสี Charlie Hebdo ในกรุงปารีส ได้ทำให้เกิดกระแสความคิดเห็นที่แตกต่างในเรื่องเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็น และเป็นชนวนให้ผู้คนในหลายประเทศเดินขบวนทั้งเพื่อสนับสนุนและต่อต้านประเด็นนี้ รวมทั้งในจีน
นสพ. Charlie Hebdo ฉบับแรกหลังเหตุการณ์โจมตีในกรุงปารีสเมื่อต้นเดือนนี้ พิมพ์ออกมาแล้วกว่า 7 ล้านฉบับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นกระแสสนับสนุนมากมายของผู้คนทั่วโลกที่มีต่อ นสพ.แนวเสียดสีฉบับนี้ แต่กลับก่อให้เกิดแรงต่อต้านครั้งใหม่ขึ้นในหมู่ชาวมุสลิม เมื่อภาพหน้าปกของ นสพ.ดังกล่าวเป็นภาพการ์ตูนล้อศาสดามูฮัมหมัด ที่ชาวมุสลิมจำนวนมากมองว่าเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามศาสนาอิสลาม
แรงกระเพื่อมของการถกเถียงประเด็นนี้ ส่งไปถึงประเทศจีน ที่ซึ่งรัฐบาลควบคุมการแสดงความเห็นของประชาชนอย่างเข้มงวด ทั้งทางสื่อสิ่งพิมพ์และอินเทอร์เน็ต
สำหรับเจ้าหน้าที่จีน การโจมตีในกรุงปารีสคือตัวอย่างของการแสดงความเห็นอย่างเสรีโดยไม่มีการควบคุม เมื่อเร็วๆนี้สำนักข่าวซินหว่าของทางการจีนตีพิมพ์บทบรรณาธิการ ระบุว่าควรมีการควบคุมเสรีภาพในการแสดงความเห็น เพราะจะทำให้เกิดโศกนาฏกรรมน้อยลง
ขณะที่บทบรรณาธิการของ นสพ. Global Times ของทางการจีน เตือนว่าผรั่งเศสควรควบคุมเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพื่อไม่ให้ลุกลามไปถึงเรื่องศาสนา ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงยิ่งขึ้น
คุณ William Nee นักวิจัยของสถาบัน Amnesty International ชี้ว่ารัฐบาลจีนต้องการสื่อให้ทั่วโลกรับรู้ว่า แต่ละศาสนา แต่ละวัฒนธรรม ต่างมีค่านิยมหลักของตัวเอง ซึ่งประเทศอื่นควรให้ความเคารพ
ที่ผ่านมา จีนปฏิเสธเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของต่างชาติ เกี่ยวกับการควบคุมเสรีภาพทางการเมืองในประเทศจีนมาโดยตลอด โดยให้เหตุผลว่าประเทศอื่นไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของจีน คุณ William Nee เชื่อว่าเหตุการณ์โจมตี นสพ. Charlie Hebdo ยิ่งเป็นการเน้นย้ำความเชื่อดังกล่าวของรัฐบาลปักกิ่ง
นักวิจัยของ Amnesty International ระบุว่าทางการจีนพยายามแสดงให้เห็นว่า สื่อตะวันตกควรให้ความเคารพศาสนาอิสลาม ในขณะเดียวกันก็ควรเคารพในค่านิยมหลักของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ว่าด้วยเรื่องการจำกัดเสรีภาพทางการแสดงความเห็นทางการเมืองด้วยเช่นกัน
แต่อาจารย์ Xiaohe Cheng แห่งภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัย Renmin เห็นว่า มุมมองที่มีต่อเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของชาวจีน แตกต่างจากมุมมองของผู้คนในประเทศตะวันตก เพราะได้รับอิทธิพลจากระบบการศึกษาและการเมืองของจีนเอง
อาจารย์ Xiaohe Cheng เชื่อว่าสาเหตุที่ชาวจีนมีการตอบสนองต่อเหตุการณ์โจมตีในกรุงปารีสต่างจากประเทศอื่น เพราะยังไม่เข้าใจประวัติศาสตร์การเมืองของฝรั่งเศส ซึ่งให้ความสำคัญต่อเสรีภาพในด้านต่างๆ มาก โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
จีนเองได้เผชิญกับการโจมตีของผู้ก่อการร้ายหลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รวมทั้งเมื่อปีที่แล้วที่กลุ่มคนร้ายสวมหน้ากากได้ไล่แทงผู้คนที่สถานีรถไฟแห่งหนึ่งในมณฑลยูนนาน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 30 คน ซึ่งชาวจีนเรียกว่าเป็นเหตุการณ์ 9/11 ของจีน โดยเจ้าหน้าที่จีนระบุว่าเป็นการกระทำของชาวมุสลิมอวีเก้อทางภาคตะวันตกของจีน
คุณ Rachel Lu นักเขียนและนักวิเคราะห์สื่อสังคมของจีน บอกว่าเวลานี้ผู้คนจำนวนมากในสื่อสังคมออนไลน์ กำลังตั้งคำถามว่า ทำไมจีนต้องให้ความสำคัญกับการก่อการร้ายในยุโรปและสหรัฐฯ ในเมื่อยุโรปและอเมริกาแทบไม่เคยแสดงความสงสารเห็นใจต่อเหยื่อของเหตุการณ์ก่อการร้ายในจีนเลย
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่จีนพยายามบอกว่าเสรีภาพของการแสดงความเห็นในยุโรปคือสาเหตุของการก่อการร้ายในกรุงปารีส แต่กลุ่มชาวอวีเก้อกลับป่าวประกาศว่า การที่รัฐบาลจีนควบคุมเสรีภาพของประชาชน ทำให้พวกตนต้องลุกฮือประท้วงต่อต้านรัฐบาล ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจีนเองก็กำลังประสบปัญหาในการสื่อสารกับพลเมืองชาวมุสลิมในประเทศจีนเช่นกัน
รายงานจากผู้สื่อข่าว Shannon Van Sant / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล