สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า อัตราการขยายตัวของกิจกรรมการผลิตในภาคอุตสาหกรรมของจีนชะลอตัวลงในเดือนมกราคม ในขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสพุ่งสูงขึ้นและทางการจีนนำมาตรการล็อกดาวน์มาใช้ซึ่งส่งผลต่อการผลิตและความต้องการสินค้า
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน ชี้ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ หรือ Purchasing Manager's Index (PMI) ของจีนในเดือนมกราคมลดลงมาอยู่ที่ 50.1 จากระดับ 50.3 เมื่อเดือนธันวาคม
ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนเริ่มต้นปีที่แล้วอย่างแข็งแรงและถือเป็นประเทศแรก ๆ ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ แต่กลับสูญเสียแรงขับเคลื่อนไปในช่วงฤดูร้อนหลังจากเกิดปัญหาหนี้ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการกลับมาใช้มาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนในช่วงปลายปี
นอกจากนี้ราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นและความต้องการสินค้าที่ลดลงก็ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทต่าง ๆ ลดลงเช่นกัน ประกอบกับคำสั่งของรัฐบาลจีนที่ให้โรงงานเหล็กหลายแห่งทางภาคเหนือต้องลดการผลิตชั่วคราวเพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวกรุงปักกิ่ง ก็ทำให้ปริมาณการผลิตของจีนลดลงด้วย
เมื่อวันพุธ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนจากระดับ 5.6% ลงมาเหลือ 4.8% ในปีนี้เพื่อสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจหลายอย่างที่จีนกำลังเผชิญ
และในขณะที่มีการคาดการณ์ว่าปัญหาในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนจะต่อเนื่องจนถึงอย่างน้อยครึ่งปีแรกของปีนี้ รวมทั้งโอกาสการเกิดไวรัสสายพันธ์ุใหม่ ๆ ธนาคารกลางของจีนจึงได้เริ่มใช้นโยบายลดอัตราดอกเบี้ยและอัดฉีดเงินสดเข้าสู่ระบบการเงินมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และคาดว่าจะมีการประกาศมาตรการอื่น ๆ ออกมาอีกเร็ว ๆ นี้
แต่นักเศรษฐศาสตร์บางคนชี้ว่า นโยบายดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยง เนื่องจากธนาคารของหลายประเทศกำลังเตรียมใช้นโยบายขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาเงินทุนไหลออกจากตลาดการเงินของจีนได้
- ที่มา: รอยเตอร์