มาตรการควบคุมและจัดระเบียบอุตสาหกรรมบันเทิงซึ่งทางการจีนนำมาใช้ ทำให้บริษัทผู้สร้างภาพยนตร์และผู้ผลิตเนื้อหาในต่างประเทศเริ่มพิจารณาทบทวนกลยุทธ์ทางธุรกิจของตนที่อาจพึ่งพาตลาดในประเทศจีนน้อยลง
โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ทางการจีนได้เผยแพร่กฎเกณฑ์รายละเอียดสำหรับการทบทวนเนื้อหาของรายการต่าง ๆ ทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งระบุว่าผู้ผลิตเนื้อหาไม่ควรใช้ดารานักแสดงจากฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน หรือจากประเทศอื่น ๆ อย่างไม่เหมาะสม
และนักแสดงของจีนบางคนตีความกฎหมายเรื่องนี้ว่า ตนจะต้องยกเลิกการมีสองสัญชาติโดยหันมาถือสัญชาติการเป็นพลเมืองของจีนแต่เพียงอย่างเดียวเพื่อแสดงความภักดีต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน หากยังคาดหวังที่จะทำงานและเติบโตในวงการบันเทิงของจีนต่อไป
และก็มีนักแสดงหรือนักร้องบางคน เช่น คุณ Nicholas Tse ซึ่งได้ย้ายจากฮ่องกงไปอยู่ที่นครแวนคูเวอร์ของแคนาดาตั้งแต่เด็ก กล่าวว่า ตนได้ตัดสินใจสละสัญชาติแคนาดาด้วยเหตุผลดังกล่าว
แต่สำหรับผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจบันเทิงของจีนรายอื่น แนวทางปฎิบัติที่ว่านี้ทำให้เริ่มมีการพิจารณาเรื่องการแยกตัวหรือถอนตัวออกจากตลาดประเทศจีน ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของโลกตะวันตกมักถูกกล่าวหามาตลอดว่าพยายามเอาใจจีนจากการที่จีนมีตลาดภาพยนตร์ใหญ่ที่สุดของโลกตามตัวเลขของปี 2020 ก็ตาม
อย่างเช่น เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว นาย Reed Hasting ซีอีโอร่วมของ Netflix ให้สัมภาษณ์กับ CNBC ว่าทางบริษัทได้พยายามมุ่งเน้นโอกาสของการเติบโตในส่วนอื่นของโลก แต่ไม่ใช่ในประเทศจีน โดยเหตุผลหนึ่งของเรื่องนี้อาจมาจากการที่จีนได้พยายามเพิ่มกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมเนื้อหารายการบันเทิงที่ผลิตโดยต่างชาติ
ทั้งนี้ ตามข้อสังเกตของคุณ Clayton Dube ผู้อำนวยการสถาบันสหรัฐ-จีน ของ University of Southern California ส่วนคุณ Aynne Kokas ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านสื่อของมหาวิทยาลัย University of Verginia ก็บอกกับวีโอเอภาคภาษาจีนกลางว่ากฎหมายของจีนที่มุ่งควบคุมอุตสาหกรรมบันเทิงนั้นอาจมีขึ้นเพื่อส่งเสริมค่านิยมระดับชาติที่ทางการจีนเห็นว่าสำคัญเช่นกัน
คำถามในขณะนี้ก็คือ หากธุรกิจผู้ผลิตเนื้อหาบันเทิงของประเทศตะวันตกพิจารณาถอนตัวออกจากตลาดจีนแล้ว เรื่องนี้จะสร้างผลเสียด้านรายได้และผลกำไรมากน้อยเพียงใด
ซึ่งอาจารย์ Wendy Su ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อของจีนที่มหาวิทยาลัย University of California - Riverside ให้ความเห็นว่า เรื่องดังกล่าวอาจยากที่จะคาดเดาเพราะมีภาพยนตร์ฮอลลีวูดหลายเรื่องซึ่งรายได้น่าผิดหวังในสหรัฐฯ แต่กลับทำได้ดีในตลาดจีน เช่นเรื่อง “Rampage” ของ Dwayne Johnson เมื่อปี 2018 เป็นต้น
แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้สร้างภาพยนตร์บางคนที่มั่นใจว่า ภาพยนตร์ของตนจะประสบความสำเร็จได้โดยไม่ต้องพึ่งตลาดจีน อย่างเช่นเรื่อง “Once Upon a Time … in Hollywood” ของผู้กำกับ Quentin Tarantino ซึ่งสามารถสร้างรายได้ทั่วโลกได้กว่า 357 ล้านดอลลาร์โดยไม่ได้เข้าไปฉายในประเทศจีน เป็นต้น
ส่วนคุณ Stanley Rosen ผู้สอนด้านรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย University of Southern California ก็ชี้ว่า ปกติแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับหนังฟอร์มใหญ่ทุกเรื่องที่จะทำรายได้แบบถล่มทลายในตลาดจีน เพราะขณะนี้จีนมีระบบโควต้าซึ่งกำหนดว่าจะมีภาพยนตร์ต่างประเทศได้ 34 เรื่องต่อปีแบบแบ่งรายได้กัน และในจำนวนนี้ 14 เรื่องต้องเป็นหนังฟอร์มใหญ่ในรูปแบบ IMAX และ/หรือ 3D เป็นต้น
ดังนั้น โอกาสของเรื่องนี้จึงค่อนข้างจำกัดอยู่แล้ว และนิตยสาร Variety ก็รายงานว่าตั้งแต่ปี 2019 รัฐบาลกรุงปักกิ่งได้ตั้งเป้าให้มีการผลิตภาพยนตร์ในประเทศปีละ 100 เรื่อง โดยแต่ละเรื่องควรทำรายได้อย่างน้อย 100 ล้านหยวน หรือประมาณ 15 ล้านดอลลาร์เช่นกัน