ความสนใจของนักวิเคราะห์ต่อการเลือกตั้งในเมียนมาไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลทหารที่กำลังตกเป็นเป้าโจมตีรอบทิศเท่านั้น แต่ยังตั้งคำถามไปถึงจีนที่เป็นผู้ผลักดันวาระนี้ ว่าท้ายที่สุด บัตรเลือกตั้งจะเป็นทางออกของวิกฤตการณ์ที่ดำเนินอยู่ได้หรือไม่
เมื่อ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา จีนเข้าร่วมหารือแบบไม่เป็นทางการที่กรุงเทพฯ ร่วมกับเมียนมา และประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาทั้งบังกลาเทศ อินเดีย ลาว และไทย เพื่อหารือเสริมสร้างความร่วมมือและแก้ไขปัญหาข้ามแดนร่วมกัน
ระหว่างประชุม ตาน ส่วย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา นำเสนอแผนงานด้านการเมือง และความคืบหน้าในการจัดเลือกตั้งในปีหน้า ซึ่งรวมถึงการทำสำมะโนประชากร จดทะเบียนพรรคการเมือง และตั้งใจที่จะเชิญผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างประเทศเพื่อนบ้านด้วย ตามแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศไทย
ทางด้าน รมช. ต่างประเทศของจีน ซุน เว่ยตง เรียกร้องในที่ประชุมให้ประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาสนับสนุน “สันติภาพและความปรองดอง”อ้างอิงจากแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศจีน
ที่ผ่านมา กลุ่มต่อต้านทั้งฝ่ายติดอาวุธชาติพันธุ์ รวมถึงรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติหรือ NUG ที่เป็นรัฐบาลเงา ไม่ยอมรับแผนการเลือกตั้ง โดยตั้งคำถามไปถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงหลักประกันด้านความเปิดกว้างและเป็นธรรม
รัฐบาลทหารเมียนมาไม่ได้ตอบรับคำขอความเห็นจากวีโอเอเกี่ยวกับการประชุมที่กรุงเทพฯ ไปจนถึงความคืบหน้าและคำถามต่อการเตรียมจัดการเลือกตั้ง
เมื่อไม่นานมานี้ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา กล่าวในวาระเทศกาลคริสมาสต์และขึ้นปีใหม่ เน้นย้ำว่ารัฐบาลกรุงเนปิดอว์มุ่งมั่นและตั้งใจ “เสริมสร้างระบบประชาธิปไตยแบบพหุภาคี และการหวนกลับไปสู่หนทางประชาธิปไตยที่ถูกต้อง”
วีโอเอขอความเห็นจากสถานทูตจีนประจำเมียนมา แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ
อย่างไรก็ตาม การเยือนกรุงเนปิดอว์เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาของหวัง อี้ รมว.ต่างประเทศของจีน ก็ได้เรียกร้องให้มี “การเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม” ตามการรายงานของสื่อทางการ Global New Light of Myanmar
เจสัน ทาวเวอร์ จากสถาบัน United States Institute of Peace กล่าวว่าจีนกำลังกดดันชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ยอมรับว่า การเลือกตั้งเป็นหนทางแก้ไขปัญหาที่ดำเนินอยู่ในเมียนมา
ทาวเวอร์กล่าวว่า “จากมุมของจีน ถ้าอาเซียนเอารัฐบาล (ทหาร) กลับเข้ามาและเริ่มมีการหารือในระดับที่สูงขึ้น นั่นจะให้ความชอบธรรมกับสิ่งที่จีนกำลังทำอยู่”
เลือกตั้งในช่วงที่เสียเปรียบ
แผนเลือกตั้งของรัฐบาลทหารเกิดขึ้นคู่ขนานไปกับการพ่ายแพ้ในสนามรบหลายจุด
เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว กลุ่มสามภราดรภาพที่ประกอบด้วยกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ตะอาง ชาติพันธุ์โกก้าง และกลุ่มอาระกันอาร์มี รวมตัวกันยึดเมืองล่าเสี้ยว เมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์บนระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา ทางตอนเหนือของรัฐฉาน
เมื่อ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา กลุ่มอาระกันอาร์มีประกาศว่าได้เข้ายึดฐานบัญชาการภาคตะวันตกของรัฐบาลในรัฐยะไข่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีโครงการลงทุนของจีนขนาดใหญ่หลายโครงการ รวมถึงฐานทรัพยากรก๊าซธรรมชาติจำนวนมาก
ไซ จี ซิน โซ นักวิเคราะห์การเมืองเมียนมา กล่าวว่าการเลือกตั้งที่นานาชาติผลักดัน แต่ไร้ซึ่งการปรึกษาหารืออย่างแท้จริงจากทุกฝ่ายในความขัดแย้ง จะทำได้แค่นำไปสู่การหยุดยิงที่แสนเปราะบาง
“มันจะไม่ได้เป็นทางออกที่เมียนมาได้ประโยชน์ในระยะยาว ต้องเข้าใจว่าจะมีเพียงสันติภาพในแง่ลบที่จะดำเนินต่อไป”
ทาวเวอร์ จาก Institute of Peace มองว่ารัฐบาลทหารกำลัง “ดิ้นรนมากขึ้นเรื่อย ๆ” และต้องพึ่งพาจีนในทางความมั่นคงมากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์กับรัฐบาลปักกิ่งในแง่การมีพื้นที่ทดลองความริเริ่มด้านความมั่นคงแบบใหม่ ๆ
เขามองว่าบทบาทของจีนในเมียนมาทั้งการสนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์ทางเหนือ รวมถึงการผลักดันโครงการทางการเมืองของรัฐบาลกลาง อาจบดบังแนวทางที่ชาติอาเซียนสนับสนุน
“ท่าทีตอบสนองภายในเมียนมา โน้มเอียงไปในทิศทางที่กรุงปักกิ่งมุ่งไป” ทาวเวอร์กล่าว
เท็ต มิน ลวิน ผู้เชี่ยวชาญด้านเมียนมาจากมหาวิทยาลัยยอร์ก มองว่า “ประเทศเพื่อนบ้าน (ของเมียนมา) ทั้งหลายรวมถึงจีน ไม่สามารถเข้าใจถึงการที่แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมามีสิทธิ์ในการปกครองและมีอธิปไตยเป็นของตนเอง”
- ที่มา: วีโอเอ
กระดานความเห็น