จีนกับหลายประเทศในเอเชียได้ตกลงสร้างช่องทางสื่อสารเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติในลักษณะที่เรียกว่าโทรศัพท์สายด่วนหรือ hotline
แต่นักวิเคราะห์ในเอเชียบางคนเชื่อว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการตั้งช่องทางสายด่วนเหล่านี้คือการสร้างความสัมพันธ์แต่ไม่ได้เพื่อมุ่งแก้ที่ปัญหาพื้นฐานของกรณีพิพาทอย่างแท้จริง
ขณะนี้จีนอ้างกรรมสิทธิ์ราว 90% เหนือพื้นที่ประมาณ 3 ล้าน 5 แสนตารางกิโลเมตรของทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรด้านพลังงานและแหล่งประมง โดยประเทศซึ่งเป็นคู่กรณีพิพาทเกี่ยวกับพื้นที่บางส่วนในทะเลจีนใต้กับจีนอยู่มีตั้งแต่บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมอาเซียนกับไต้หวันที่อยู่นอกสมาคม
ส่วนในทะเลจีนตะวันออก จีนกับญี่ปุ่นก็เป็นคู่พิพาทเหนือพื้นที่บางส่วนซึ่งรวมถึงหมู่เกาะที่ไม่มีคนอาศัยแต่อยู่ในความควบคุมของญี่ปุ่น เช่นกัน
โดยปกติแล้วการจัดตั้งสายด่วนเพื่อการติดต่อในกรณีฉุกเฉินหรือ Hotline มักเป็นทางปฏิบัติซึ่งทางจีนเลือกใช้
โดยเว็บไซต์ข่าว Global Times ของจีนระบุไว้เมื่อปี 2018 และอ้างงานศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Tsinghua ว่าสายด่วนระหว่างกองทัพช่วยเปิดช่องทางสำหรับการสื่อสารและช่วยในกระบวนการแก้ปัญหาข้อพิพาท รวมทั้งช่วยลดความเสี่ยงของความขัดแย้งลงได้
และเมื่อต้นเดือนมิถุนายน ผู้บัญชาการกองทัพเรือของจีนกับเวียดนามตกลงร่วมมือกันเพื่อตั้งสายด่วน Hotline ที่มุ่งลดความเสี่ยงและลดโอกาสขัดแย้งเกี่ยวกับกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้
โดยก่อนหน้านี้เมื่อปี 2012 กระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศได้จัดตั้งสายด่วนเพื่อหารือซึ่งกันและกันในประเด็นปัญหาเกี่ยวกับทะเลจีนใต้
และในปี 2017 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจากสิบประเทศสมาชิกของอาเซียนก็ตกลงจัดตั้งสายด่วน Hotline กับจีนซึ่งสำนักข่าว Xinhua เรียกว่าเป็นความร่วมมือเพื่อการตอบสนองเหตุการณ์อย่างรวดเร็วในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับปฏิบัติการทางทะเล ส่วนในปี 2018 จีนก็ตั้งสายด่วนในลักษณะเดียวกันนี้กับญี่ปุ่นและกับอินเดีย เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนอย่างเช่นอาจารย์ Alexander Vuving จากศูนย์เพื่อศึกษาความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค Daniel K. Inouye ที่ฮาวายมองว่าจีนคาดหวังจะให้การจัดตั้งสายด่วนกับประเทศต่างๆ นี้แสดงว่ากำลังมีความร่วมมือกันแต่ก็ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายหรือช่วยลดความตึงเครียดแต่อย่างใด
และว่าเหตุการณ์ส่วนใหญ่ที่สร้างความขุ่นเคืองใจให้กับประเทศอื่นๆ จากกรณีพิพาทในทะเลจีนใต้นั้นมักมีการวางแผนมาก่อนล่วงหน้าไม่ใช่เกิดขึ้นเองโดยทันที
ส่วนคุณ Jack Nguyen หุ้นส่วนคนหนึ่งของบริษัทที่ปรึกษา Mazars ในนครโฮจิมินห์ซิตี้ของเวียดนามก็มองว่าเป็นเรื่องของการแสดงความรับผิดชอบที่จะมีสายด่วนที่ปลอดภัยเพื่อการสื่อสารหากมีอะไรเกิดขึ้น แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ความสัมพันธ์ เช่น ระหว่างเวียดนามกับจีนดีขึ้นหรือแย่ลงแต่อย่างใด
ตามทัศนะการมองของนักวิเคราะห์อย่างเช่นคุณ Alexander Vuving นั้น จีนต้องการทำงานโดยตรงกับประเทศคู่กรณีพิพาทแบบตัวต่อตัวมากกว่าและอาจใช้วิธีเสนอให้ความช่วยเหลือและการลงทุนแก่ประเทศที่ยากจนกว่าเพื่อคลี่คลายข้อขัดแย้ง เช่นข้อเสนอความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 73 ล้านดอลลาร์สำหรับฟิลิปปินส์ หรือการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนกับเวียดนามเป็นต้น
ผู้เชี่ยวชาญบอกด้วยว่าไม่เคยมีกรณีใดที่ทราบซึ่งสายด่วนที่ตั้งขึ้นนั้นทำให้ความขัดแย้งหายไป และเชื่อด้วยว่าจีนก็คงไม่ตอบรับสายด่วนในเวลาที่เกิดสถานการณ์คับขันด้วยเช่นกัน