ตามข้อมูลของสถาบัน Stockholm International Peace Research Institute ขณะนี้จีนเป็นประเทศผู้ขายอาวุธรายใหญ่อันดับสี่ของโลกรองจากสหรัฐฯ รัสเซีย และฝรั่งเศส และตัวเลขการส่งออกอาวุธของจีนระหว่างปี 2016-2020 ลดลง 7.8% เมื่อเทียบกับในช่วงห้าปีก่อนหน้า
โดยนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงตั้งข้อสังเกตว่ายุทโธปกรณ์จากจีนนั้นแม้จะมีราคาถูกกว่าของประเทศอื่นแต่มักมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าในแง่การบำรุงรักษาและมีปัญหาด้านคุณภาพเพราะไม่เคยผ่านการทดสอบใช้งานด้วย อย่างไรก็ตามขณะนี้จีนก็พร้อมจะส่งออก ”อาวุธทรงพลังที่สุดชนิดหนึ่ง” ให้ประเทศที่สนใจด้วย
โดยปกติแล้วจีนขายอาวุธให้กับประเทศต่างๆ ตกปีละราว 3,000 - 4,000 ล้านดอลลาร์ตามข้อมูลจากนายริชาร์ด บิทซิงเกอร์ นักวิจัยอาวุโสของ S. Rajaratnam School of International Studies ในสิงคโปร์
ส่วนนายโคลิน โก๊ะ นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงของมหาวิทยาลัย Nanyang Technological University ก็ชี้ว่าแม้อาวุธจากจีนจะมีราคาค่อนข้างถูกในขั้นต้นเมื่อเทียบกับของประเทศอื่นก็ตามแต่ค่าใช้จ่ายสำหรับการบำรุงรักษาหลังการขายมักจะสูงกว่าของประเทศอื่นเช่นกัน
นอกจากนั้นหากประเทศผู้ซื้ออาวุธมีข้อขัดแย้งทางการเมืองกับจีนแล้วโอกาสที่จะได้รับบริการสนับสนุนด้านระบบอาวุธเหล่านี้ก็อาจจะมีปัญหาตามไปด้วยได้ นักวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัย Nanyang Technological University ผู้นี้ยังเสริมด้วยว่าปัญหาอีกด้านหนึ่งของระบบยุทโธปกรณ์จากจีนคือการขาดหลักประกันด้านคุณภาพเพราะไม่ได้ผ่านการทดสอบในสนามจริง และประเทศผู้ซื้อส่วนใหญ่ก็อาจมีปัญหาเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของ Made-in-China แบรนด์ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตามนายอเล็กซานเดอร์ วูวิง อาจารย์จากศูนย์ศึกษาความมั่นคงเอเชียแปซิฟิก Daniel K. Inouye ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เสริมว่าประเทศส่วนใหญ่ที่ซื้ออาวุธจากจีนมักจะเป็นประเทศยากจนซึ่งมีปัญหาขัดแย้งทางการเมืองกับสหรัฐฯ ในทวีปแอฟริกา ในตะวันออกกลาง ในเอเชียใต้และในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา เป็นต้น
และในช่วงปี 2016 - 2020 ที่ผ่านมาราว 60% ของการส่งออกอาวุธของจีนเป็นการขายให้กับอัลจีเรีย บังกลาเทศและปากีสถาน โดยเฉพาะปากีสถานนั้นข้อมูลจากสถาบัน Stockholm International Peace Research Institute ระบุว่าได้ซื้ออาวุธจากจีนคิดเป็นสัดส่วนถึง 38% ในช่วงห้าปีดังกล่าว
ประเทศส่วนใหญ่ที่ซื้ออาวุธจากจีนมักไม่ค่อยมีข้อร้องเรียนใดๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ชี้ว่าหลายประเทศอาจไม่ได้ใช้อาวุธเหล่านี้ด้วยซ้ำและอาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นภายหลังด้วย อย่างเช่นเว็บไซต์ด้านอาวุธชื่อ Overt Defense ระบุว่าเมื่อสองปีที่แล้วกองทัพอากาศจอร์แดนได้ประกาศขายโดรนรุ่น CH-4B Pterosaur หกลำที่ซื้อจากจีนและข้อมูลที่ปรากฏก็แสดงว่าจอร์แดนอาจรู้สึกผิดหวังกับการทำงานของโดรนเหล่านี้เช่นกัน
แต่อากาศยานไร้คนขับหรือโดรนดูจะเป็นสินค้าออกที่ใช้งานทั้งด้านกิจการพลเรือนและการทหารซึ่งจีนมีฐานการผลิตที่แข็งแกร่งและสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้ดี โดยคุณโคลิน โก๊ะ ของมหาวิทยาลัย Nanyang Technological University ให้ข้อมูลว่าจีนได้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการสร้างอาวุธจากรัสเซียรวมทั้งยังมีโอกาสที่จะสร้างและขายเรือรบด้วย
ยิ่งกว่านั้นสื่อออนไลน์ China Daily ของจีนยังรายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าขณะนี้จีนพร้อมที่จะส่งออก “ระบบอาวุธซึ่งทรงพลัง” มากที่สุดอย่างหนึ่งที่มีอยู่นั่นคือระบบจรวดขีปนาวุธแบบร่อนหรือ cruise missile ความเร็วเหนือเสียงที่ยิงจากเรือดำน้ำ เช่นกัน
ที่มา: VOA