ลิ้งค์เชื่อมต่อ

เปิดม่าน เทศกาลภาพยนตร์คานส์ ครั้งที่ 74 - อภิชาติพงศ์ เข้าร่วมชิงปาล์มทองคำอีกครั้ง


France Cannes 2021 Opening Ceremony Red Carpet
France Cannes 2021 Opening Ceremony Red Carpet

เทศกาลภาพยนตร์คานส์เริ่มต้นขึ้นแล้วในสัปดาห์นี้ โดยการจัดงานปีนี้เป็นปีที่ 74 ของเทศกาลภาพยนตร์ประจำปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของโลก หลังจากต้องระงับการจัดงานในปีที่แล้วเนื่องจากการระบาดของโคโรนาไวรัส ซึ่งส่งผลให้รูปแบบของงานในปีนี้เปลี่ยนแปลงไปบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องของการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสตลอดช่วงจัดงาน 12 วัน ที่มีนักแสดง ผู้กำกับชื่อดัง และผู้มีชื่อเสียงจากทั่วโลกเข้าร่วมกันอย่างคลาคล่ำ ขณะที่ อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับเชื้อสายไทย เป็นหนึ่งในผู้ที่มีโอกาสคว้ารางวัลใหญ่ของงานอีกครั้ง

ในพิธีเปิดงานเทศกาลภาพยนตร์คานส์ปีนี้เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มีการเปิดตัวคณะกรรมการตัดสินรางวัลประจำปี ซึ่งนำโดย สไปค์ ลี ผู้กำกับชื่อดังจากสหรัฐฯ และเป็นโอกาสสำหรับ บอง จุน โฮ ผู้ชนะรางวัลปาล์มทองคำเมื่อปีที่แล้วในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ พาราไซต์ (Parasite) ที่คว้ารางวัลมาจากหลายเวทีให้ได้มาปรากฏตัวต่อหน้ากล้องอีกครั้ง ขณะที่การเดินพรมแดงโดยทีมงานภาพยนตร์ต่างๆ ที่เข้าฉายและเข้าประกวดในปีนี้ ที่นำโดย อดัม ไดรฟเวอร์ และ มาริญง โกติยาร์ด จากภาพยนตร์มิวสิคัลแฟนตาซี ‘แอนเนตต์’ ทำให้งานมีสีสันขึ้นมาได้อย่างมาก

APTOPIX France Cannes 2021 Opening Ceremony Red Carpet
APTOPIX France Cannes 2021 Opening Ceremony Red Carpet

ผู้มีชื่อเสียงอีกหลายคนที่มาร่วมเดินพรมแดงในวันเปิดงาน มีอาทิ ผู้กำกับสัญชาติสเปน เปโดร อัลโมโดวา นักแสดงมากฝีมือ เฮเลน เมียร์เรน และเจสสิกา แชนเทน รวมทั้งซูเปอร์โมเดล เบลลา ฮาดิด และ นักแสดงและผู้กำกับชื่อดัง โจดี ฟอสเตอร์ ผู้ที่มีกำหนดขึ้นรับรางวัลปาล์มเกียรติยศ (Honorary Palme) ในปีนี้

สำนักข่าว เอพี รายงานว่า การเปิดงานอย่างเป็นทางการนั้นมีขึ้นเมื่อ บอง จุน โฮ ร่วมกับ เปโดร อัลโมโดวา และ โจดี ฟอสเตอร์ รวมทั้ง สไปค์ ลี ประกาศการเริ่มงานด้วยภาษาเกาหลี ภาษาสเปน ภาษาฝรั่งเศส และภาษาอังกฤษ

France Cannes 2021 Opening Ceremony Red Carpet
France Cannes 2021 Opening Ceremony Red Carpet

France Cannes 2021 Opening Ceremony Red Carpet
France Cannes 2021 Opening Ceremony Red Carpet

รายงานข่าวระบุว่า ขณะที่ผู้เข้าร่วมงานในปีนี้จะต้องเข้ารับการตรวจการติดเชื้อโควิด-19 ทุกๆ 48 ชั่วโมง การจัดที่นั่งในโรงภาพยนตร์นั้นเป็นการจัดแบบปกติ โดยไม่ได้มีการเว้นระยะห่างเป็นพิเศษ แต่ทุกคนจะต้องสวมหน้ากากตลอดการรับชม

ในระหว่างพิธีเปิดงานนั้น การพูดคุยกับคณะกรรมการตัดสินรางวัลที่นำโดย สไปค์ ลี เน้นไปในเรื่องของความอยุติธรรมต่างๆ ในสังคมเป็นส่วนใหญ่ และบรรยากาศทั่วๆ ไปนั้นก็ไม่ได้เป็นเหมือนในปีก่อนๆ ซึ่งเป็นการสะท้อนภาพสถานการณ์ความเป็นจริงๆ ในหลายพื้นที่ทั่วโลกที่โรงภาพยนตร์นั้นยังไม่สามารถเปิดทำการได้ตามปกติ

สไปค์ ลี พูดถึงเหตุการณ์เสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ชาวอเมริกันผิวสีเมื่อปีที่แล้ว โดยอ้างถึงภาพยนตร์เรื่อง “Do the Right Thing” ของตนที่เปิดตัวฉายเป็นครั้งแรกในงานเทศกาลนี้เมื่อปี ค.ศ. 1989 ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติและการเสียชีวิตของตัวละครอเมริกันผิวสีระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยกล่าวว่า แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 30 ปีแล้ว หลายคนยัง “คิดและหวัง” ว่า “คนผิวสีจะไม่ต้องถูกล่าเยี่ยงสัตว์” อีกต่อไป

ส่วน คเลเบอร์ เมนดนซา ฟิลโล ผู้กำกับชาวบราซิล ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัล กล่าวว่า อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ในบราซิลต้องปิดตัวลงและผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมนี้ต้องกลายว่างงานลงไป ขณะที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในประเทศของตนไปแล้วกว่า 500,000 คน ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นหากรัฐบาลของประธานาธิบดี จาอีร์ โบลโซนาโร รับมือกับวิกฤตครั้งนี้ด้วยมาตรการที่มีความเข้มแข็งและประสิทธิภาพกว่าที่ใช้มา

อีกประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคือ เรื่องของอิทธิพลของการสตรีมมิ่งภาพยนตร์ในโลกบันเทิงยุคนี้ ขณะที่เทศกาลภาพยนตร์คานส์ยังยืนยันที่จะไม่คัดเลือกผลงานที่ไม่ออกฉายในโรงภาพยนตร์ในประเทศฝรั่งเศสเข้าร่วมประกวด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกหมางเมินระหว่างผู้จัดงานและผู้ให้บริการสตรีมมิ่งชั้นนำ อย่าง เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย เธียร์รี เฟรโมซ์ ผู้อำนวยการการจัดงานเทศกาลพูดถึงประเด็นนี้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยตั้งคำถามว่า “มีผู้กำกับคนไหนถูกค้นพบจากการมีผลงานออกฉายทาง (สตรีมมิ่ง) นั้นบ้าง”

อย่างไรก็ดี สไปค์ ลี ซึ่งมีผลงานเรื่อง “Da 5 Bloods” ออกฉายทางเน็ตฟลิกซ์ เมื่อปีที่แล้ว กล่าวว่า “โรงภาพยนตร์และแพลตฟอร์มการฉายภาพยนตร์อื่นๆ สามารถอยู่ร่วมกันได้” ขณะที่ย้ำว่า งานเทศกาลที่คานส์ “คือเทศกาลภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก” อยู่ดี

Oscars-Foreign Language
Oscars-Foreign Language

ในส่วนของผลงานที่เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม หรือ รางวัลปาล์มทองคำ ในปีนี้ หนึ่งในภาพยนตร์ที่ได้รับการจับตาคือ “Memoria” ผลงานล่าสุดของ อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล ซึ่งเคยเป็นผู้ชนะเมื่อปี ค.ศ. 2010 ด้วยผลงาน ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’

“Memoria” เป็นผลงานภาพยนตร์เรื่องยาวลำดับที่ 9 ของอภิชาตพงศ์ และเป็นเรื่องแรกที่ถ่ายทำนอกประเทศไทย และได้นักแสดงระดับแถวหน้าของโลก อย่าง ทิลดา สวินตัน มาร่วมงานเป็นครั้งแรก

ในการให้สัมภาษณ์กับ The Hollywood Reporter อภิชาตพงศ์ กล่าวว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชาวต่างชาติคนหนึ่งที่เดินทางเข้ามาอยู่ในประเทศโคลอมเบีย ขณะที่กำลังประสบปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับประสาทการรับรู้ของตน โดยเป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆ ที่พบเจอในช่วงเวลาหนึ่งๆ

อภิชาตพงศ์ ใช้เวลาหลายเดือนขณะทำการค้นคว้าเพื่อเขียนบทภาพยนตร์ในโคลอมเบีย หลังจากมีโอกาสไปเยือนประเทศนี้เมื่อปี ค.ศ. 2017 และนำความทรงจำของตนเกี่ยวกับเรื่องราวนิยายผจญภัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมละตินอเมริกาและป่าแอมะซอนที่เคยได้อ่านสมัยเด็กๆ มาเป็นแรงบันดาลใจเขียนบท ขณะที่บังเอิญมีปัญหาสุขภาพกับอาการที่เรียกว่า Exploding Head Syndrome หรือ โรคหัวระเบิด ซึ่งทำให้ตนรู้สึกเหมือนได้ยินเสียงดังก้องหูในช่วงเช้าก่อนตื่นนอนอยู่ช่วงหนึ่ง จนกลายมาเป็น ‘Memoria’ ในที่สุด

เมื่อผู้สัมภาษณ์พยายามถามถึงรายละเอียดของเรื่องราวในภาพยนตร์นี้ อภิชาตพงศ์ กล่าวเพียงว่า ทั้งหมดจะเป็นเรื่องของการบำบัดและการค้นหาตนเอง ที่ผู้ชมจะต้องลองชมและทำความเข้าใจดูเอง ซึ่งแม้จะชมจนจบแล้ว บางคนอาจจะยังสงสัยว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามจะเล่าเรื่องอะไรกันแน่ก็เป็นได้

ในเวลานี้ ยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับกำหนดการออกฉายของ ‘Memoria’ แต่สำหรับผู้ที่มีโอกาสเข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์คานส์ มีตารางการจัดฉายให้ชม 4 รอบ ในช่วงวันท้ายๆ ของการจัดงานที่จะปิดลง ในวันที่ 17 กรกฎาคมนี้

(ที่มา: สำนักข่าว เอพี และ The Hollywood Reporter)

XS
SM
MD
LG