ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Guelph ในออนโตริโอ แคนาดาเปิดเผยว่าพบซากแมลงหลายตัวกับซากของตัวซาลาเเมนเดอร์ในพืชกินเเมลงตระกูลหม้อข้าวหม้อเเกงลิง
ทีมงานได้รายงานการค้นพบพืชกินสัตว์ครั้งนี้ในผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ไปเมื่อเร็วๆ นี้ในวารสาร Ecology
การศึกษานี้เกี่ยวข้องกับพืชตระกูลต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง ในสวนอุทยานระดับจังหวัด Algonquin ของออนโตริโอ โดยพืชประเภทนี้มีหลายขนาด หลายรูปทรงเเละมีสีสันสวยงามเเละพบว่าขึ้นอยู่ทั่วไปในที่ลุ่มน้ำทั่วเเคนาดา
พืชกับดักแบบหลุมพรางนี้ มีใบที่ม้วนงอห่อตัวเป็นถุงทรงสูงและเเคบ ภายในบรรจุของเหลวได้ เเมลงกับเเมงมุมที่เข้าไปในถุงกับดักนี้จะออกมาไม่ได้เเละกลายเป็นอาหารของพืชดังกล่าว
พืชประเภทต้นหม้อข้าวหม้อแกงมักพบในหนองหรือบึงที่พื้นดินนิ่มเเละชุ่มน้ำ พืชดักแมลงเหล่านี้มักกินสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเป็นอาหาร เช่น เเมลงเเละแมงมุม
แต่ทีมนักวิจัยแคนาดาพบด้วยว่าพืชกินแมลงที่ว่านี้ยังกินซาลาเเมนเดอร์ สัตว์เลื้อยคลานครึ่งบกครึ่งน้ำขนาดเล็กอีกด้วย ซึ่งสร้างความแปลกใจมาก
ทีมนักวิจัยแคนาดาเชื่อว่านี่เป็นครั้งเเรกที่ค้นพบว่าพืชประเภทหม้อข้าวหม้อเเกงลิงในทวีปอเมริกา เหนือกินสัตว์ชนิดอื่นๆ นอกเหนือไปจากแมลงหรือเเมงมุม
ในฤดูร้อนของปี พ.ศ. 2560 นายเทสคี้ โบลด์วิน ซึ่งในตอนนั้นเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย Guelph เจอซาลาเเมนเดอร์ตัวหนึ่งติดอยู่ภายในถุงดักของพืชกินแมลงขณะที่เขากำลังทำงาน ภาคสนาม ในสวนอุทยานแห่งจังหวัด
ในระหว่างการเก็บข้อมูลหลายครั้งในพื้นที่จุดเดียวของอุทยานเเห่งนี้ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยค้นพบว่าเกือบ 1 ใน 5 ของพืชกับดักแมลงทั้งหมดมีตัวซาลาเเมนเดอร์ที่ยังไม่โตเต็มที่ ติดอยู่ข้างใน
ซาลาเเมนเดอร์อายุน้อยเหล่านี้มีขนาดเกือบเท่ากับนิ้วมือคนเเละผลการศึกษาชี้ว่าพืชหลายต้นยังมีซาลาเเมนเดอร์มากกว่าหนึ่งตัวอีกด้วย บางตัวตายลงภายในสามวันหลังจากติดอยู่ในกับดัก บางตัวมีชีวิตอยู่อีก 19 วันหลังจากเข้าไปติดภายในถุงดัก
ทีมนักวิจัยบอกว่าไม่รู้ว่าอะไรทำให้ตัวซาลาเเมนเดอร์ตาย แต่สงสัยว่าอาจเป็นเพราะเอนไซม์หลาย ชนิดที่พืชผลิตออกมา ซึ่งผสมอยู่ในของเหลวในใบที่ม้วนติดกันเป็นถุงกับดัก ของเหลวภายใน กับดักนี้มีฤทธิ์ในการย่อยสลายสิ่งมีชีวิตที่เข้าไปติดอยู่ภายใน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตาม ธรรมชาติในการนำสารอาหารไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของต้นพืช
ทีมนักวิจัยสงสัยด้วยว่าซาลาเเมนเดอร์ที่ติดอยู่ในถุงกับดักของพืชอาจตายลงเพราะความร้อน ไม่ได้กินอาหารหรือการติดเชื้อ
การศึกษานี้พบว่าอาจมีสาเหตุที่เป็นไปได้อื่นๆ อีกหลายอย่าง อาทิ ซาลาเเมนเดอร์ที่ยังไม่โตเต็ม วัยอาจชอบเข้าไปในถุงดักของพืชเพื่อแอบซ่อนตัวหรือเข้าไปกินแมลงเเละเเมงมุมที่ติดอยูข้างใน หรืออาจจะตกลงไปในกับดักโดยบังเอิญ
Alex Smith อาจารย์ด้านชีววิทยาของมหาวิทยาลัย เเละผู้ร่างรายงานผลการศึกษากล่าวว่า การค้นพบนี้ก่อให้เกิดคำถามใหม่ๆตามมาหลายคำถาม ซึ่งการวิจัยในอนาคตอาจจะช่วยอธิบาย ได้ว่าซาลาเเมนเดอร์เป็นเเหล่งอาหารสำคัญของพืชกินเเมลงหรือเป็นเพียงเพราะว่าซาลาเเมนเดอร์เเย่งกินแมลงกับพืชชนิดนี้เท่านั้น
(เรียบเรียงโดยทักษิณา ข่ายแก้ว วีโอเอภาคภาษาไทยกรุงวอชิงตัน)