วุฒิสมาชิกมิชท์ แมคคอแนล ผู้นำฝ่ายเสียงข้างมากในวุฒิสภาประกาศเมื่อวันอังคารว่าวุฒิสภาสหรัฐฯ จะลงมติรับรองการเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ของรัฐบาลกลางเอมี คอนีย์ แบร์เร็ตให้เป็นตุลาการศาลสูงคนใหม่ในวันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม
การเร่งกระบวนการเพื่อลงมติรับรองสมาชิกคนใหม่ของศาลสูงหรือศาลฎีกาสหรัฐฯ ครั้งนี้ที่สวนทางกับเหตุผลและท่าทีของวุฒิสมาชิกแมคคอแนลในสมัยประธานาธิบดีโอบามาซึ่งมีตำแหน่งตุลาการศาลสูงว่างลงเช่นกันแต่ผู้นำเสียงข้างมากไม่ยอมบรรจุวาระเข้าสู่การประชุมโดยอ้างว่าเป็นปีเลือกตั้งและควรรอให้ประชาชนออกเสียงเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ก่อนนั้นทำให้สมาชิกพรรคเดโมแครตหลายคนไม่พอใจและเห็นว่าเรื่องนี้เป็นความพยายามอย่างชัดเจนเพื่อให้ศาลสูงของสหรัฐฯ มีเสียงข้างมากที่เป็นตุลาการแนวอนุรักษ์นิยมหกคนจากจำนวนทั้งสิ้นเก้าคนนั่นเอง
การที่พรรครีพับลิกันเร่งดำเนินการในวุฒิสภาเพื่อลงมติรับรองผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เอมี คอนีย์ แบร์เร็ต ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์เสนอชื่อให้เข้ารับตำแหน่งตุลาการศาลสูงคนใหม่ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 พ.ย. ยังเป็นผลให้มีเสียงเรียกร้องจากสมาชิกพรรคเดโมแครตแนวก้าวหน้าบางคนให้เพิ่มจำนวนผู้พิพากษาในศาลสูงของสหรัฐฯ จากที่มีอยู่เก้าคนในปัจจุบันเป็นสิบสองคน ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ถ้าพรรคเดโมแครตชนะการเลือกตั้งในลักษณะที่เรียกว่า blue wave คือสามารถคุมตำแหน่งได้ทั้งในทำเนียบขาวและในทั้งสองสภา
ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งประเทศเป็นต้นมาจำนวนผู้พิพากษาในศาลสูงของสหรัฐฯ เคยเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายครั้งโดยเคยมีน้อยที่สุดคือหกคนและมากที่สุดคือสิบคน แต่ในรอบ 151 ปีหลังนี้ตุลาการศาลสูงสหรัฐฯ มีจำนวนคงที่คือเก้าคนและรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ ก็ไม่ได้ระบุไว้ตายตัวว่าจะต้องมีผู้พิพากษาที่ใช้อำนาจสูงสุดของฝ่ายตุลาการนี้ได้กี่คนด้วย
อย่างไรก็ตามหากพรรคเดโมแครตชนะเลือกตั้งและสามารถคุมเสียงในทั้งสองสภาได้จริง ถึงแม้โอกาสการผ่านร่างกฎหมายต่างๆ จะดีขึ้นมากแต่การผ่านร่างกฎหมายที่สำคัญในวุฒิสภานั้นปกติแล้วต้องใช้เสียงข้างมาก 60 เสียงซึ่งก็หมายถึงว่าพรรคเดโมแครตจะต้องแก้ไขกฎเกี่ยวกับ filibuster หรือการอภิปรายถ่วงเวลาเพื่อขวางการลงมติในร่างกฎหมายเพื่อลดจำนวนคะแนนเสียงที่ต้องใช้จาก 60 เสียงลงเป็นเสียงข้างมากเกินครึ่งคือ 51 เสียงเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม อาจารย์นิโคล ฮิวเบอร์เฟลด์ ผู้สอนวิชากฏหมายที่มหาวิทยาลัยบอสตันให้ความเห็นว่าการเพิ่มจำนวนตุลาการศาลสูงด้วยเหตุผลทางการเมืองจะบั่นทอนสถานะและความเชื่อมั่นในสถาบันที่ว่านี้ และหากประชาชนไม่คิดว่าคำวินิจฉัยของศาลเป็นเรื่องที่ปลอดจากการเมืองแล้วก็คงเป็นเรื่องยากที่สถาบันศาลจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้
ผลการสำรวจความเห็นในช่วงหลังนี้แสดงว่าขณะที่คนอเมริกันส่วนใหญ่เชื่อว่าศาลสูงสหรัฐฯ ตัดสินใจโดยยึดผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติเป็นหลักนั้นก็มีคนอเมริกันมากขึ้นที่กังวลว่าผู้พิพากษาศาลสูงสหรัฐฯ ได้รับอิทธิพลทางการเมืองมากไป
ทางด้านอาจารย์คาลวิน เชอร์เมอฮอน ผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Arizona State University ก็ชี้ว่าการวินิจฉัยของศาลสูงสหรัฐฯ มักเกี่ยวข้องและส่งผลกระทบต่อประเด็นที่สำคัญในสังคม เช่น ระบบประกันสุขภาพ การทำแท้งหรือสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ
แต่ขณะเดียวกันศาลสูงสหรัฐฯ ก็วินิจฉัยตีความในเรื่องธรรมดาสามัญทั่วๆ ไปด้วย และอาจารย์นิโคล ฮิวเบอร์เฟลด์จากมหาวิทยาลัยบอสตันก็เสริมว่าบ่อยครั้งที่ผู้พิพากษาแนวทางอนุรักษ์นิยมมีคำวินิจฉัยในลักษณะที่คนทั่วไปไม่สามารถคาดเดาได้ เช่น อดีตตุลาการแอนโทนี สคาเลียได้ตีความรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยปกป้องสิทธิของอาชญากร หรือตุลากาดนีล กอร์ซิสซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีทรัมป์ก็ร่วมวินิจฉัยว่าคนทำงานที่เป็นเกย์และเป็นคนข้ามเพศนั้นสมควรได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายสิทธิพลเมืองของสหรัฐฯ เช่นกัน