โตนเลสาบ ในกัมพูชา คือที่อยู่อาศัยของปลามากมายหลายสายพันธุ์ ซึ่งเป็นอาหารของประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายล้านคน แต่ปัจจุบัน ความอุดมสมบูรณ์ของโตนเลสาบกำลังถูกคุกคามจากการประมงเกินขีดจำกัด มลพิษ และการสร้างเขื่อน
“โตนเลสาบ” เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่บริเวณตรงกลางของประเทศกัมพูชา มีพื้นที่ประมาณ 7,500 ตารางกิโลเมตร เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำจะท่วมพื้นที่บริเวณรอบ ๆ ทำให้โตนเลสาบขยายตัวออกกว้างมากถึง 6 เท่า
ทะเลสาบแห่งนี้มีปลาอาศัยอยู่หลายร้อยสายพันธุ์ และแต่ละปีมีผลผลิตปลาจากทะเลสาบแห่งนี้ราว 300,000 ตัน
อย่างไรก็ตาม ความอุดมสมบูรณ์ของโตนเลสาบกำลังถูกคุกคามจากการประมงเกินขีดจำกัด มลพิษ และการสร้างเขื่อน
คุณลวน จันติ ชาวประมงที่โตนเลสาบ กล่าวว่า การแข่งขันจับปลาที่ทะเลสาบแห่งนี้ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ปลาที่จับได้มีจำนวนลดลง
นอกจากนี้ มลพิษทางน้ำที่เพิ่มขึ้นยังทำให้ปลามีพื้นที่วางไข่น้อยลง ประกอบกับการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า ก็ทำให้ปลาบางสายพันธุ์ไม่สามารถว่ายไปวางไข่ตามธรรมชาติได้
ความกังวลเรื่องนี้ยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อรัฐบาลลาวมีแผนจะสร้างเขื่อนอีกหลายแห่งกั้นแม่น้ำโขงในส่วนของประเทศลาว เพราะนอกจากเขื่อนเหล่านั้นจะเป็นอุปสรรคต่อการวางไข่ของปลาแล้ว ยังทำให้น้ำจากแม่น้ำโขงที่ไหลมาลงในโตนเลสาบ เดินทางช้าลง และส่งผลกระทบต่อคุณภาพของน้ำทั้งในแม่น้ำโขงและโตนเลสาบด้วย
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้นอกจากทำให้ชาวกัมพูชามีปลาให้รับประทานน้อยลงในราคาที่สูงขึ้นแล้ว ยังทำให้สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ของโตนเลสาบ ย่ำแย่ลงอย่างมาก โดยเมื่อปีที่แล้ว องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายกลุ่มต่างระบุว่า โตนเลสาบ คือทะเลสาบที่ถูกคุกคามและเป็นอันตรายมากที่สุดในโลก
คุณโอม สวัธ หนึ่งในคณะทำงานด้านการประมงของรัฐบาลกัมพูชา กล่าวว่า ภาครัฐกำลังให้ความช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ เพื่อแก้ปัญหาการประมงและสิ่งแวดล้อมในโตนเลสาบ โดยจะมีการหารือเรื่องนี้กับกระทรวงสิ่งแวดล้อมของกัมพูชาเร็วๆ นี้
ความกังวลที่มีต่อโตนเลสาบยังลุกลามไปถึงปัญหาด้านสังคม เพราะในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า หากสภาพแวดล้อมของทะเลสาบใหญ่แห่งนี้ยังไม่ดีขึ้น ก็อาจเกิดการอพยพครั้งใหญ่ของผู้คนหลายล้านคนที่อาศัยอยู่รอบๆ โตนเลสาบ เข้าไปในเมือง ซึ่งหมายถึงปัญหาด้านอื่นๆ ที่จะตามมา
(ผู้สื่อข่าว Kevin Enochs รายงาน / ทรงพจน์ สุภาผล เรียบเรียง)