ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกคำสั่งใหม่ให้บริษัท ByteDance ซึ่งเป็นเจ้าของแอพพลิเคชั่น TikTok ให้ขายธุรกิจส่วนนี้ที่อยู่ในสหรัฐฯ ภายใน 90 วัน
ภายใต้คำสั่งล่าสุดเพื่อกดดันบริษัทสัญชาติจีนแห่งนี้ ที่มีจุดประสงค์เพื่อปกป้องการรั่วไหลของข้อมูลพลเมืองชาวอเมริกัน ปธน.ทรัมป์ ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือและทำให้ตนเชื่อด้วยว่า ByteDance อาจทำการบางอย่างที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ
คำสั่งนี้เป็นการต่อยอดจากคำสั่งฝ่ายบริหารที่ผู้นำสหรัฐฯ ลงนามไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสั่งห้ามการทำธุรกรรมบางประเภทกับ TikTok หาก ByteDance ไม่ขายธุรกิจแอพนี้ในสหรัฐฯ ภายใน 45 วัน โดยล่าสุด บริษัทสัญชาติจีนแห่งนี้ยังคงอยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อขายธุรกิจในอเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ให้กับ ไมโครซอฟท์ อยู่
นอกจากการเดินหน้ากดดันบริษัทเทคโนโลยีจีนและแอพยอดนิยมนี้แล้ว คำสั่งใหม่ของปธน.สหรัฐฯ ยังให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ทำการตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกิจรวมทั้งระบบข้อมูลต่างๆ ของทั้ง ByteDance และ TikTok เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ ได้รับการปกป้องระหว่างที่การเจรจาซื้อขายธุรกิจนี้ดำเนินอยู่
แม้ว่า TikTok จะเป็นที่รู้จักในฐานะแอพที่ให้ผู้ใช้งานโพสต์วิดีโอการเต้นประกอบเพลง โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น เจ้าหน้าที่รัฐแสดงความกังวลว่า ข้อมูลของผู้ใช้งานต่างหากที่อาจเป็นสิ่งที่รัฐบาลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องการดึงไปใช้งาน
หลังได้รับทราบถึงคำสั่งนี้ ByteDance ออกแถลงการณ์ตอบรับที่ระบุว่า บริษัทตระหนักถึงการที่ชาวอเมริกันราว 100 ล้านคนใช้งานแอพนี้ซึ่ง “เปรียบเสมือนบ้านแห่งความบันเทิง เพื่อการแสดงออก และเพื่อเชื่อมต่อ และเรามุ่งมั่นที่จะนำเสนอความสุขให้แก่ทุกครอบครัว รวมทั้งเปิดโอกาสทางอาชีพให้แก่ทุกคนที่จะเข้ามาร่วมสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ในแอพของเราในช่วงหลายปีจากนี้”
ทั้งนี้ ปธน.ทรัมป์ ระบุว่า ตนสนับสนุนการที่ ไมโครซอฟท์ เข้าซื้อกิจการของ TikTok ในสหรัฐฯ ถ้าหากรัฐบาลจะได้ “ส่วนแบ่งก้อนโต” จากรายได้
ขณะเดียวกัน สตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า คำสั่งล่าสุดของผู้นำสหรัฐฯนี้ ระบุว่า ByteDance ต้องถ่ายโอนทรัพย์ “ข้อมูลใดๆ ก็ตามที่ได้รับมาจากผู้ใช้งานในสหรัฐฯ ผ่าน TikTok หรือ Musical.ly (ซึ่งเป็นสื่อสั่งคมออนไลน์ที่บริษัทซื้อมาและควบรวมเข้ากับ TikTok)” ตามคำแนะนำของคณะกรรมการเพื่อการลงทุนจากต่างประเทศในสหรัฐฯ หรือ Committee on Foreign Investment in the United States (CFIUS) ให้แก่ปธน.สหรัฐฯ เพื่อดำเนินการปกป้องผู้ใช้งานในสหรัฐฯ