จีนขีดเส้นตายวันที่ 31 มี.ค สำหรับประเทศที่ต้องการเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งธนาคารใหม่ AIIB
วันที่ 31 มี.ค จะเป็นวันสุดท้ายที่ประเทศต่างๆ จะสามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมเป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งใหม่ของเอเชียหรือ AIIB ที่มีจีนเป็นหัวเรือใหญ่ จนถึงขณะนี้มีพันธมิตรหลายรายของสหรัฐฯ ทั้งในยุโรปและเอเชียที่ตกลงเข้าร่วมกับจีนแล้ว แม้แต่สหรัฐฯ เองที่แสดงความกังวลต่อความโปร่งใสและธรรมาภิบาลของธนาคารนี้ ก็ยังพิจารณาว่าสมควรจะเข้าร่วมด้วยหรือไม่
แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าสหรัฐฯ จะยังไม่เข้าร่วมกับธนาคาร AIIB ในลักษณะของสมาชิกร่วมก่อตั้ง เนื่องจากสภาพการเมืองในสหรัฐฯ เองที่ยังไม่เอื้ออำนวย
ทางธนาคารเพื่อการลงทุนของเอเชียหรือ ADB ที่นำโดยญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ระบุว่าปัจจุบันเอเชียต้องการเงินลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานเป็นมูลค่าราว 800,000 ล้านดอลล่าร์ต่อปี ซึ่ง ADB ไม่สามารถตอบสนองได้ทั้งหมด จึงยังมีโอกาสอีกมากสำหรับ AIIB ที่จะจัดหาเงินกู้ส่วนที่เหลือ
สหรัฐฯ จับตามองข่าวอื้อฉาวเรื่องการคอรัปชั่นในยูเครนอย่างใกล้ชิด
ปธน.ยูเครน Petro Porochenko เรียกร้องให้มหาเศรษฐีผู้ว่าการแคว้น Dnipropetrovsk นาย Ihor Kolomoisky และจนท.ระดับสูงของแคว้นดังกล่าวอีกสองคนลาออกจากตำแหน่ง สืบเนื่องจากข่าวอื้อฉาวเรื่องการคอรัปชั่นของทั้งสามคนถูกเปิดเผยออกมาเมื่อสัปดาห์ก่อน
เวลานี้กำลังเกิดความกังวลว่าข่าวอื้อฉาวเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการเมืองในยูเครนหรือไม่
ผู้สนับสนุนโครงการป้องกันการประมงเกินขีดจำกัดได้รับรางวัลใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อม
คุณ Jane Lubchenco ผู้สนับสนุนโครงการป้องกันการตกปลามากเกินไป ได้รับเลือกให้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อม Tyler Prize ประจำปีนี้ พร้อมเงินรางวัล 200,000 ดอลล่าร์
เธอคือผู้สนับสนุนโครงการที่เรียกว่า Catch Share ซึ่งหมายถึงการกำหนดปริมาณสูงสุดของปลาที่สามารถจับได้ในพื้นที่หนึ่ง จากนั้นแจกจ่ายให้แก่ชาวประมงในพื้นที่นั้นอย่างเท่าเทียม โดยชาวประมงสามารถได้ส่วนแบ่งการจับปลามากขึ้นเมื่อจำนวนปลาในพื้นที่นั้นxๆ ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น
แต่ผู้ไม่เห็นด้วยบอกว่าโครงการดังกล่าวทำให่ชาวประมงรายเล็กต้องถูกดดันให้ออกจากตลาด และทำให้เกิดอุปสรรคสำหรับผู้ที่ต้องการจะเข้าสู่อุตสาหกรรมการประมง
กลุ่มล็อบบี้ยิสต์อเมริกันพยายามรณรงค์ให้ใช้เหรียญ $1 แทนธนบัตร $1
กลุ่มที่ใช้ชื่อว่า The Dollar Coin Alliance พยายามล็อบบี้ให้รัฐสภาสหรัฐฯ ผ่านร่างกฏหมายเปลี่ยนธนบัตร $1 ให้เป็นเหรียญ $1 โดยเชื่อว่าจะช่วยให้ปริมาณการออมของคนอเมริกันเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 พันล้านดอลล่าร์ในช่วง 30 ปีข้างหน้า นอกจากนี้เหรียญยังมีความคงทนกว่าธนบัตร จึงช่วยลดต้นทุนการผลิตธนบัตรซ้ำแล้วซ้ำเล่า
อย่างไรก็ตาม เหรียญ $1 นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยถูกนำออกมาใช้หลายครั้งแต่ไม่ได้รับความนิยมในหมู่คนอเมริกัน
รายงานจากห้องข่าว VOA / เรียบเรียงโดยทรงพจน์ สุภาผล