เครดิตเรตติ้งอาจลดอันดับความน่าเชื่อถือสหรัฐฯ จากความวุ่นวายในการขยายเพดานหนี้
บรรดานักวิเคราะห์จากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือหลายแห่ง จับตาความวุ่นวายในสภาสหรัฐฯ ในการขยายเพดานหนี้สาธารณะ โดยระบุว่า หากยังคงถกเถียงกันอย่างไม่มีข้อสรุป อาจทำให้สหรัฐฯถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือได้อีกครั้ง
ทั้งนี้ ตามกฏหมายสหรัฐฯ กำหนดเพดานหนี้ภาครัฐขึ้นมา เพื่อให้รัฐสภาควบคุมการก่อหนี้สาธารณะไม่ให้เกินกว่าเพดานที่กำหนดไว้ ซึ่งหากที่ประชุมสภาสหรัฐฯ คว่ำการขยายเพดานหนี้รอบใหม่รวมทั้งการอนุมัติงบประมาณในปีหน้า อาจนำไปสู่ Government Shutdown ได้อีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard & Poor หรือ S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ เนื่องจากการหารือที่ยืดเยื้อในการขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ เมื่อปี 2011
ฝั่งบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Rating ที่ยังให้อันดับเครดิตเรตติ้งสหรัฐฯสูงที่สุดอยู่ มองว่า หากมีปัญหาการขยายเพดานหนี้ จะส่งผลต่อการพิจารณาเรตติ้งของสหรัฐฯอย่างแน่นอน
ส่วนบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อ
อ Moody’s บอกว่าสหรัฐฯได้รับบทเรียนจากการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ที่สร้างความเสียหายกับรัฐบาลมากถึง 1 พัน 3 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีเดียวที่ถูกลดอันดับเครดิตเรตติ้ง จึงมองว่า สหรัฐฯควรยกเลิกการกำหนดเพดานหนี้ตามกฏหมาย เพราะนอกจากไม่สามารถควบคุมการใช้จ่ายภาครัฐได้จริงแล้ว ยังสร้างความวุ่นวายในกระบวนการผ่านงบประมาณรัฐอีกด้วย
ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของรัสเซียถึงขั้น ‘วิกฤต’
ผลการวิจัยจาก National Bureau of Economic Reserch ของสหรัฐฯ ระบุว่า รัสเซียมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในระดับวิกฤต นับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต เนื่องจากคนร่ำรวยของรัสเซียมีทรัพย์สินในต่างแดนมากกว่ามูลค่าของทุนสำรองต่างประเทศของรัฐบาลรัสเซียถึง 3 เท่าตัว
ปัจจัยในความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เห็นได้ชัดขึ้น มาจากนโยบายการให้สัมปทานเพื่อใช้ประโยชน์ทรัพยากรในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของรัสเซียในระยะยาว
ทีมวิจัยบอกด้วยว่า หากคนร่ำรวยและผู้กุมอำนาจของรัสเซียยังคงภักดีและรักษาผลประโยชน์ของรัฐบาลอยู่ ปัญหาช่องว่างของรายได้ก็ยังคงมีต่อไป
1 ใน 3 ของธุรกิจในอังกฤษอาจปิดตัวหลัง Brexit เพราะขาดแคลนแรงงาน
ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารในอังกฤษ ออกมาเตือนว่าการแยกตัวจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit อาจทำให้ประเทศขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก และอาจทำให้ธุรกิจในประเทศถึง 1 ใน 3 ต้องปิดตัวลง
โดยข้อมูลจากสมาพันธ์อาหารและเครื่องดื่มของอังกฤษ เผยการสำรวจธุรกิจ Supply Chain ภาคเกษตรในอังกฤษ ตามโครงการ Farm-to-fork เปิดเผยว่า ธุรกิจ 31% ประสบปัญหาแรงงานที่มาจากกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป หรือ อียู ลาออกและกลับประเทศไปแล้ว ขณะที่เกือบครึ่งหนึ่งของธุรกิจในอังกฤษ พบว่าแรงงานกลุ่มนี้เริ่มพิจารณาว่าจะออกจากอังกฤษแล้ว
นอกจากนี้ สมาพันธ์อาหารและเครื่องดื่มของอังกฤษ ให้ตัวเลขด้วยว่า 47% ของธุรกิจในอังกฤษบอกว่า แรงงานสัญชาติอียู พิจารณาจะอพยพออกจากอังกฤษ ธุรกิจอีก 36% อาจต้องปิดกิจการหากไม่สามารถจ้างแรงงานในกลุ่มอียูได้อีก ธุรกิจอีก 31% รายงานต่อภาครัฐว่าแรงงานจากกลุ่มอียูลาออกไปแล้วหลังประชามติ Brexit และอีก 17% ของธุรกิจในอังกฤษ เตรียมย้ายกิจการไปเปิดในกลุ่มอียูแทน หากไม่สามารถจ้างแรงงานอียูในอังกฤษได้