สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศหรือ IEA คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันเฉลี่ยต่อวันของโลกปีนี้จะลดลง 8% จากปีก่อน คือลดลงราว 8 ล้านบาร์เรลต่อวัน และถึงแม้ความต้องการใช้น้ำมันในปีหน้าอาจจะเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ก็เชื่อว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าของเมื่อปีที่แล้ว จากความไม่แน่นอนของอุตสาหกรรมการบิน
นอกจากการเปลี่ยนความคิดและความต้องการเกี่ยวกับการเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไปแล้ว ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งซึ่งอาจมีผลต่อความต้องการใช้เชื้อเพลิงประเภทฟอสซิล คือการเร่งพัฒนาพลังงานสะอาดเพื่อใช้ทดแทน
อาจารย์ไมเคิล แบรดฟอร์ด จากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัย Warwick ชี้ว่า ขณะนี้กลุ่มด้านสิ่งแวดล้อมกำลังเร่งผลักดันเพื่อให้แน่ใจว่า ข้อตกลงกรุงปารีสจะไม่ได้รับผลกระทบที่เสียหายจากโรคระบาดใหญ่โควิด-19 รวมทั้งได้พยายามกดดันเรื่องการใช้พลังงานทดแทน เพื่อช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วย
โดยอาจารย์แบรดฟอร์ด ชี้ว่า หากความพยายามของกลุ่มด้านสิ่งแวดล้อมเป็นผลสำเร็จ เราก็จะไม่ได้เห็นความต้องการใช้น้ำมันของโลกในระดับเหมือนในช่วงก่อนโรคโควิด-19 อีกต่อไป
แต่ไม่ว่าการผลักดันเรื่องพลังงานสะอาดให้เป็นทางเลือกของโลกหลังยุคโควิด-19 จะสำเร็จตามเป้าหรือไม่ก็ตาม ขณะนี้อุตสาหกรรมน้ำมันก็มีปัญหาท้าทายหลายด้านในตัวเองอยู่แล้ว โดยเฉพาะจากนักลงทุน และบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการพลังงานก็กำลังเตรียมรับมือกับเรื่องนี้
เช่น เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บริษัท Royal Dutch Shell ได้ประกาศตั้งงบสำรอง 2 หมื่น 2 พันล้านดอลลาร์เพื่อเตรียมรับสภาพความเป็นจริงหากราคาและความต้องการน้ำมันลดลง และเมื่อเดือนที่แล้ว บริษัทน้ำมัน BP ก็ลดการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของตนลงราว 1 หมื่น 7 พัน 500 ล้านดอลลาร์เช่นกัน