IMF ระบุเหตุผลที่นำเงินหยวนใส่ในตะกร้ากองทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ระบุว่าหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ IMF ตัดสินใจนำเงินหยวนใส่ไว้ในตะกร้ากองทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ คือเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปเศรษฐกิจและภาคการเงินจีน
กก.ผจก.ใหญ่ IMF นางคริสทีน ลาการ์ด กล่าวที่สำนักงานใหญ่ IMF ที่กรุงวอชิงตันว่า ความพยายามนำเงินหยวนไปรวมไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เงินยูโร เงินเยนญี่ปุ่น และเงินปอนด์ของอังกฤษในตะกร้าเงินดังกล่าว เกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจจีนอ้างอิงตามกลไลตลาดมากขึ้น
คาดว่าเงินหยวนจะมีสัดส่วนอยู่ในกองทุน Special Drawing Rights ที่ว่านี้ 10.92% และจะเริ่มมีผลตั้งแต่เดือนตุลาคมปีหน้า
นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่า การที่ IMF ตัดสินใจนำเงินหยวนให้เข้าสู่กองทุนหรือตะกร้าเงินนี้ คือการยอมรับอย่างเป็นทางการว่าจีนคือประเทศที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดในโลก และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯ
นักวิเคราะห์ระบุว่า แม้การตัดสินใจล่าสุดของ IMF จะถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับจีนในการก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในผู้นำเศรษฐกิจโลก แต่ก็ถือเป็นความท้าทายที่จีนต้องแสดงให้เห็นว่า เงินหยวนนั้นมีความมั่นคง โปร่งใส และปราศจากการแทรกแซงของรัฐบาลจีน
เศรษฐกิจไต้หวันเข้าสู่ภาวะถดถอย
เศรษฐกิจไต้หวันซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับ 19 ของโลก กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยหลังจากหดตัวลง 2 ไตรมาสติดต่อกัน โดยลดลง 0.3% ในช่วงเดือน ก.ค - ก.ย และลดลง 1.14% ไตรมาสก่อนหน้านั้น
รัฐบาลไต้หวันระบุว่า ความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลก และราคาน้ำมันดิบที่ลดลง คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไต้หวันหดตัว นอกจากนี้ การที่ตลาดส่งออกสำคัญของไต้หวัน คือจีนแผ่นดินใหญ่ มีการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมไฮเทค จึงทำให้มีการนำเข้าสินค้าเทคโนโลยีจากไต้หวันน้อยลง ประกอบกับการที่เศรษฐกิจจีนเองก็กำลังชะลอตัว จึงส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าสำคัญของจีนอย่างไต้หวันด้วย
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า การจับจ่ายสินค้าในช่วงเทศกาลวันหยุดปลายปีของประเทศทางตะวันตก จะช่วยกระตุ้นให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของไต้หวันเติบโตขึ้นได้ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
รัสเซียและจีนตกลงจัดตั้งสำนักข่าวร่วมกัน
รัสเซียและจีนตกลงจัดตั้งสำนักข่าวซึ่งจะทำงานร่วมกันทั้งในรัสเซียและจีน โดยเจ้าหน้าที่ของสองประเทศบรรลุข้อตกลงเรื่องนี้ระหว่างการประชุม Russian – Chinese ที่กรุงปักกิ่งในขณะนี้ นอกจากนั้นยังตกลงจัดตั้งคณะกรรมการซึ่งจะทำหน้าที่ควบคุมดูแลการประชุมเจรจาของผู้แทนประเทศแถบแปซิฟิก ภายใต้ชื่อ Amur Dialogue
ทั้งสองโครงการดังกล่าวจะเริ่มขึ้นในปีหน้า ซึ่งมีการกำหนดไว้ให้เป็นปีแห่งสื่อสารมวลชนของรัสเซียและจีน