ปัญหาการรังแกกลั่นแกล้งคือปัญหาที่พบบ่อยในที่ทำงาน ซึ่งอาจเกิดขึ้นในลักษณะของการวิพากษ์วิจารณ์ เลือกปฏิบัติ ลำเอียง หรือให้ความเป็นธรรมกับผู้ใต้บังคับบัญชาแต่ละคนไม่เท่ากัน รายงานการสำรวจที่จัดทำโดยบริษัท Zogby International และสถาบันต่อต้านการกลั่นแกล้งในที่ทำงาน ชี้ว่า 35% ของชาวอเมริกันผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่าตนเองเคยถูกรังแกกลั่นแกล้งในที่ทำงาน และอีก 15% บอกว่าตนเคยพบเห็นการกลั่นแกล้งในองค์กรที่ตนทำงานอยู่
ผู้เชี่ยวชาญบางคนชี้ว่าปัญหาการรังแกกลั่นแกล้งในที่ทำงาน อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรนั้นได้ เช่นมีพนักงานลาป่วยหรือลาออกมากขึ้น หรือลูกจ้างบางคนอาจฟ้องร้องดำเนินคดีกับนายจ้างหรือพนักงานคนอื่น
คุณ Jennifer Sandberg นักกฎหมายแห่งบริษัท Fisher & Phillips ในนครแอตแลนต้าซึ่งเป็นทนายความให้กับหลายบริษัทในคดีความที่เกี่ยวข้องกับลูกจ้าง แนะนำว่านายจ้างสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาการรังแกกลั่นแกล้งในที่ทำงาน ด้วยการทำหน้าที่หรือปฏิบัติตนอย่างเป็นมืออาชีพ โดยนักกฎหมายผู้นี้อธิบายถึงคำว่ามืออาชีพว่า หมายถึงทุกคนในบริษัทปฏิบัติตามกฎเกณฑ์แบบเดียวกัน
ปัญหาการกลั่นแกล้งในที่ทำงาน มิได้ส่งผลกระทบต่อองค์กรแค่ในส่วนของผู้ที่ถูกรังแกเท่านั้น แต่สำหรับพนักงานที่กลั่นแกล้งคนอื่นก็มีแนวโน้มใส่ใจในงานของตนเองน้อยลงเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นคนสร้างสภาพแวดล้อมที่ตึงเครียดในที่ทำงาน ซึ่งนักเขียนและนักวิเคราะห์ข่าวของสถานีข่าว CNN คุณ Lauren Mackler เรียกว่า “สภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ”
คุณ Mackler แนะนำให้ทุกคนหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์หรือใช้พฤติกรรมตอบโต้เหมือนเด็กๆ เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือรังแกกลั่นแกล้ง นักเขียนผู้นี้บอกด้วยว่าคนที่ดูเป็นคนมีความมั่นใจและเคารพในตัวเอง เช่นแต่งตัวดูดีหรือไม่หลบตาผู้อื่นขณะกำลังพูด มีโอกาสน้อยกว่าที่จะตกเป็นเหยื่อของการถูกกลั่นแกล้งในที่ทำงาน
นักวิเคราะห์ข่าวของ CNN ยังแนะนำให้ผู้ที่รู้สึกว่าตนถูกเอาเปรียบลองพิจารณาไปที่ตัวคนที่กลั่นแกล้งตน เปรียบตัวเองเป็นคนๆนั้นว่าเขาแบกรับความเจ็บปวดไว้มากแค่ไหนจึงต้องมาระบายกับผู้อื่น คุณ Mackler ชี้ว่าวิธีดังกล่าวจะช่วยให้คุณรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนที่ชอบกลั่นแกล้งผู้อื่นมากขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงที่จะตอบโต้อย่างรุนแรงกลับไป อีกทั้งยังอาจช่วยให้สบายใจขึ้น ไม่ต้องลาป่วย ลาออก หรือแม้แต่ฟ้องร้องดำเนินคดีกับอันธพาลในที่ทำงานเหล่านั้น