เป็นเรื่องปกติที่ ผู้คนซึ่งอยู่ในภาวะเจ็บป่วยทางกายมักหันไปหาที่พึ่งพาและยึดเหนี่ยวทางใจกับศาสนากันมากมาย และคำสอนของศาสนาพุทธได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ที่อยู่ในภาวะทนทุกข์มีโอกาสผ่อนคลายและหลุดพ้นจากความทรมานได้มากขึ้นเรื่อย ๆ แม้แต่ในสหรัฐฯ ซึ่งมีผู้นับถือศาสนาคริสต์เป็นหลัก
สกายลาร์ ฟริแมนน์ หญิงในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน ผู้ป่วยโรคหัวใจระยะสุดท้ายซึ่งป่วยด้วยโรคปอดด้วย ถูกส่งเข้าโรงพยาบาล พร้อมความกังวลว่า ตัวเธอจะต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง ฟริแมนน์พูดว่า “พระเจ้าในความหมายของเธอ ต่างจากกลุ่มคนที่เคร่งศาสนา” โดยผู้ป่วยรายนี้ ยังพูดกับสาธุคุณที่มาสนทนากับเธอว่า “ดีใจเหลือเกินที่มาเยี่ยม…เพราะมันคงจะลำบาก ถ้าเธอต้องพูดคุยกับสาธุคุณที่เป็นคริสเตียน”
สาธุคุณ โจ ลอเรนซ์ มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ป่วยเพื่อเยียวยาด้านจิตใจ แต่แทนที่เนื้อหาจะพูดถึงการสวดอ้อนวอนพระเจ้าตามหลักของศาสนาคริสต์ที่เห็นได้ทั่วไป สาธุคุณลอเรนซ์ เลือกที่จะสนทนาในเรื่องการทำสมาธิ การบริกรรมบทสวด รวมไปถึงหลักความเชื่อดั้งเดิมของชาวตะวันออก โดยเธอกล่าวว่า “บางทีร่างกายก็เป็นสิ่งที่ฉุดรั้ง...และในยามที่เราลำบาก เทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่ไหน?”
ที่ผ่านมา สาธุคุณลอเรนซ์ เป็นศาสนาจารย์ของลัทธิซูฟี รวมถึงฝึกปฏิบัติการทำสมาธิแบบพุทธนิกายเซน และผ่านการฝึกอบรมการใช้เนื้อหาจากคัมภีร์หลักศาสนาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในบั้นปลายของชีวิต โดยสาธุคุณลอเรนซ์ถือว่า เป็นส่วนหนึ่งของ “อนุศาสนาจารย์พุทธ” ที่กำลังได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้น ทั้งในโรงพยาบาล สถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย และเรือนจำ ซึ่งในช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ สถานที่เหล่านี้ต้องการบริการดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก
ในสหรัฐฯ ที่นักบวชคริสเตียนเป็นตัวแทนศาสนาหลักมาอย่างยาวนานนี้ ผู้นับถือศาสนาพุทธเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในสังคมที่มีการนับถือความเชื่อและศาสนาอื่น ๆ อันหลากหลาย ทั้งชาวมุสลิม ฮินดู วิคคัน และอื่น ๆ โดยเหล่าอนุศาสนาจารย์พุทธกล่าวว่า พวกเขามีจุดยืนที่แตกต่าง ซึ่งสามารถดึงดูดผู้คนจากวัฒนธรรมและศาสนาที่หลากหลายได้ในวงกว้าง โดยตัวเลขของผู้ไม่ยึดถือหลักศาสนาใด ๆ ในประเทศสหรัฐฯ ที่ราว 1 ใน 3 หันมาสนใจศาสนาพุทธเพิ่มมากขึ้น
จากความสนใจที่เพิ่มขึ้นข้างต้น ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สถาบันจำนวนมากหันมานำเสนอการเรียนการสอน รวมถึงขยายเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธมากขึ้น อย่างเช่น ที่วิทยาลัย Harvard Divinity School ซึ่งนำเสนอหลักสูตร Buddhist Ministry Initiative และโรงเรียนสอนศาสนา Union Theological Seminary ในนครนิวยอร์ค ที่มีหลักสูตรการเรียนเกี่ยวกับพุทธศาสนา เป็นต้น
โมนิกา แซนฟอร์ด ผู้ช่วยเจ้าคณะพหุศาสนศาสตร์ ที่วิทยาลัย Harvard Divinity School และศาสนาจารย์ด้านพุทธศาสนา ให้ความเห็นไว้ว่า “หลักสูตร (ที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ)มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ความต้องการของนักเรียนก็เยอะขึ้น และดูเหมือนว่า นักเรียนเหล่านี้สามารถหางานทำได้ เมื่อจบการศึกษาไปแล้ว”
ปัจจุบัน ศาสนาพุทธอยู่กระแสหลักมากขึ้น แต่เมื่อย้อนไปในอดีต อนุศาสนาจารย์พุทธมักถูกว่าจ้างโดยโรงพยาบาลหรือกรมตำรวจเพื่อให้ทำพิธีด้านศาสนาแก่ชุมชนผู้อพยพชาวเอเชีย หรือ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีการว่าจ้างนักบวชชาวพุทธเพื่อทำพิธีให้แก่ทหารเชื้อสายอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นในกองทัพ
ในรายงานเกี่ยวกับกระแสพุทธศาสนาซึ่งมีชื่อว่า The Mapping Buddhist Chaplains in North America ที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในเดือนพฤษภาคมนี้ แซนฟอร์ดและทีมงานของเธอระบุว่า ในสหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก นั้น มีอนุศาสนาจารย์พุทธที่เป็นทั่วแทนจากทุกลัทธิและนิกาย อยู่ทั้งหมด 425 คน แม้ทีมวิจัยจะเชื่อว่า ในความเป็นจริง ตัวเลขดังกล่าวน่าจะสูงกว่านั้น
รายงานดังกล่าวเปิดเผยว่า ราวร้อยละ 40 ของอนุศาสนาจารย์พุทธนั้นทำงานในส่วนการให้บริการด้านสุขภาพ ส่วนที่เหลือนั้นทำงานในโรงรียน เรือนจำ และที่ปรึกษาอิสระ ขณะที่ 2 ใน 3 ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามระบุว่า จบการศึกษาปริญญาโทด้านศาสนศาสตร์ ปริญญาโทในสาขาอื่น หรือได้รับใบรับรองการเป็นอนุศาสนาจารย์ โดยผู้ที่ทำหน้าที่อนุศาสนาจารย์ส่วนใหญ่ผ่านการฝึกงานหลักสูตรการอภิบาล หรือหน่วยงานการให้บริการด้านสุขภาพ รวมถึงงานในทำนองเดียวกันมาแล้ว
ลีห์ มิลเลอร์ ผู้อำนวยการจาก วิทยาลัยพุทธศาสนาทิเบต Maitripa College ในเมืองพอร์ตแลนด์ กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่เมื่อวิทยาลัยเปิดหลักสูตรปริญญาโทด้านศาสนศาสตร์ มีผู้แสดงความสนใจในหลักสูตรนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่กลุ่มที่เป็นพุทธศาสนิกชนมากกว่า 20 ปี ไปจนถึงบัณฑิตใหม่ที่เพิ่งเริ่มฝึกสมาธิ และผู้ที่ค้นหาความหมายด้านจิตวิญญาณจากหลากหลายศาสนา
เธอบอกว่า เหตุผลที่โรงพยาบาลและสถาบันต่าง ๆ กระตือรือร้นที่จะว่าจ้างอนุศาสนาจารย์พุทธนั้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้เกิดความหลากหลายของพนักงาน และเป็นเพราะอนุศาสนาจารย์พุทธ์นั้นมีความสามารถที่จะสื่อสารด้วยการใช้ภาษาที่เปิดกว้างและเป็นกลาง เนื่องจาก “อนุศาสนาจารย์พุทธมักจะใช้คำพูดที่เป็นสากลมากกว่า และเน้นเรื่องของความเมตตา การมีภาวะทางจิตใจที่มีสมดุลและเชื่อมโยงกับเหตุและผล รวมทั้ง ความสงบของจิตใจ ... ขณะที่ นักบวชในศาสนาคริสต์จะพูดเรื่องของพระผู้เป็นเจ้า การสวดภาวนาอ้อนวอน หรือการอ่านเนื้อหาจากคัมภีร์ไบเบิล”
หลักการที่โดดเด่นของศาสนาพุทธ ทั้งในด้านการฝึกเจริญสมาธิ การยอมรับสิ่งที่เป็นไปและความเป็นจริง รวมทั้งสัจธรรมที่ว่าความทุกข์เป็นสิ่งไม่เที่ยง ทำให้ผู้นับถือศาสนาพุทธสามารถเผชิญหน้ากับภาวะความเจ็บปวดและความตายได้ไม่เหมือนใคร โดย มิลเลอร์ เธอมองว่า “ผลลัพธ์ของการฝึกปฏิบัติสมาธิมาอย่างยาวนาน จะช่วยให้เราอยู่กับปัจจุบัน ละวางเรื่องส่วนตัว และ เจริญสติ ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ลักษณะที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น”
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของบทบาทของอนุศาสนาจารย์พุทธต้องพบกับความท้าทายเช่นกัน ในมิติที่ว่า ทำอย่างไรให้กลุ่มชนผิวสีที่นับถือศาสนาพุทธสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น
รายงาน The Mapping Buddhist Chaplains in North America ระบุว่า ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นอนุศาสนาจารย์พุทธส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาวและมีพื้นฐานมาจากครอบครัวคริสเตียน ส่วนรายงานจากศูนย์วิจัย Pew Research Center ชี้ว่า เกือบ 2 ใน 3 ของผู้นับถือศาสนาพุทธในสหรัฐฯ นั้น เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย
ชุมชนชาวพุทธแบบดั้งเดิมมักเป็นการรวมกลุ่มแบบเล็ก ๆ และนำโดยอาสาสมัคร จึงทำให้ไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะรับรองอนุศาสนาจารย์พุทธได้ ซึ่งการรับรองดังกล่าวเป็นขั้นตอนที่สำคัญสำหรับการสมัครงาน
ทั้งนี้ อนุศาสนาจารย์ที่ไม่ใช่ผู้นับถือศาสนาคริสต์อาจจะรู้สึกแปลกแยก โดยเฉพาะเมื่อต้องทำงานในองค์กรด้านสุขภาพที่ก่อตั้งโดยกลุ่มผู้นับถือศาสนาคริสต์ ที่มีการแขวนไม้กางเขนไว้ตามผนัง มีการสวดภาวนาก่อนการประชุมต่าง ๆ และมีการพูดถึงพระเยซูและคัมภีร์ไบเบิ้ลเป็นระยะ ๆ
อย่างไรก็ดี องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง Providence Health & Services ที่ก่อตั้งมาจากผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและมีที่ตั้งอยู่ในรัฐวอชิงตัน ซึ่งดูแลโรงพยาบาลในพื้นที่ 7 รัฐทางฝั่งตะวันตกของประเทศสหรัฐฯ เป็นกลุ่มหนึ่งที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงประเด็นดังกล่าว
มาร์ค โธมัส หัวหน้าพันธกิจขององค์กร Providence Health & Services ที่ประจำอยู่ในรัฐโอเรกอน เผยว่า แม้จะเป็นองค์กรที่มีภาพลักษณ์ของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก แต่ระบบก็มีการจ้างงานอนุศาสนาจารย์พุทธจำนวน 10 ตำแหน่ง โดยมีเป้าประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลด้านจิตวิญญาณที่เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด
โธมัสยังบอกด้วยว่า ผู้ป่วยหลายรายเปิดใจรับแนวทางบางอย่างหรือแม้กระทั่งวิถีของศาสนาพุทธ ไม่ว่าจะเป็นการทำสมาธิและการกำหนดลมหายใจเพื่อเยียวยาความทุกข์ทรมาน โดยระบุว่า “เครื่องมือปฏิบัติเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าเป็นอย่างมาก”
ทางด้านสาธุคุณ โจ ลอเรนซ์ อนุศาสนาจารย์พุทธ ขององค์กร Providence Health & Services กล่าวว่า มีผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่กลายมาเป็นคนที่ไม่นับถือศาสนา โดยพวกเขาไม่มีความเชื่อมโยงในแง่จิตวิญญาณ หรือบางกรณี อาจมีความบอบช้ำในอดีตที่เป็นผลพวงมาจากความเชื่อทางศาสนา และตนเองต้องการที่จะช่วยคนกลุ่มนี้ในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการนำสวดแบบคริสเตียน หรือแม้กระทั่งการให้พรในลักษณะแบบชาวพุทธ
สาธุคุณลอเรนซ์ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “สำหรับบางคนแล้ว ภาษาและเนื้อหาของศาสนาพุทธนั้นคือ สิ่งที่ทำให้ทุกอย่างพักหยุดนิ่ง โดยไม่ได้มีการบังคับภาระผูกพันใด ๆ ทั้งยังช่วยบรรเทาความเจ็บปวดให้กับพวกเขาได้เป็นอย่างดีด้วย”
- ที่มา: เอพี