บริษัทบริหารจัดการความเสี่ยงทางทะเล Dryad Global เปิดเผยเสียงการพูดคุยผ่านวิทยุระหว่างเจ้าหน้าที่อังกฤษกับเจ้าหน้าที่อิหร่าน ซึ่งถือเป็นหลักฐานชิ้นใหม่เกี่ยวกับกรณีที่อิหร่านยึดเรือขนส่งน้ำมันของอังกฤษเมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว
การบันทึกเสียงที่เปิดเผยในวันอาทิตย์ ชี้ให้เห็นว่า เรือรบของอังกฤษที่ประจำการอยู่บริเวณช่องแคบฮอร์มุซ ได้เตือนให้เรือตรวจการณ์ของกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติของอิหร่าน ไม่ให้เข้าแทรกแซงการเดินเรือของเรือบรรทุกน้ำมัน Stena Impero ผ่านช่องแคบฮอร์มุซ ก่อนที่จะมีเรืออิหร่านสองลำและเฮลิคอปเตอร์หนึ่งลำเข้าประกบเรือน้ำมันดังกล่าว และควบคุมให้มุ่งหน้าไปยังชายฝั่งของอิหร่าน
โดยเจ้าหน้าที่อังกฤษผู้หนึ่งกล่าวกับเรือขนส่งน้ำมันลำนั้นในเสียงที่บันทึกไว้ว่า เรือดังกล่าวกำลังอยู่ในเขตน่านน้ำสากล และไม่ควรถูกขัดขวางการเดินเรือใดๆ จากนั้นได้กล่าวกับเรือลาดตระเวณของอิหร่านว่า "กรุณายืนยันว่าจะไม่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยการพยายามขึ้นไปบนเรือ MV Stena ลำนั้น"
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อิหร่านได้สั่งให้เรือขนส่งน้ำมันดังกล่าวเปลี่ยนทิศทางในทันที ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย
ภาพวิดีโอที่กองทัพอิหร่านเปิดเผยเมื่อวันเสาร์ แสดงให้เห็นเรือเล็กสองลำวนอยู่รอบเรือ MV Stena ก่อนที่ทหารที่อยู่บนเฮลิคอปเตอร์จะโรยตัวจากเชือกลงบนเรือน้ำมันลำนั้น
ต่อมา ทางการอิหร่านได้แจ้งว่าการควบคุมเรือขนส่งน้ำมันของอังกฤษไว้นั้น เป็นการตอบโต้ต่ออังกฤษที่ได้ยึดเรือขนส่งน้ำมันของอิหร่านเอาไว้ที่บริเวณช่องแคบยิบรอลต้าเมื่อสองสัปดาห์ก่อน
จนถึงขณะนี้อิหร่านยังคงควบคุมเรือขนส่งน้ำมัน MV Stena พร้อมลูกเรือ 23 คนเอาไว้ ซึ่งประกอบด้วยชาวอินเดีย 18 คน ชาวรัสเซีย 3 คน ชาวแลตเวียและชาวฟิลิปปินส์อย่างละคน ซึ่งทางอิหร่านระบุว่าทั้งหมดมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงดี และเรือถูกนำไปเก็ยไว้ในที่ปลอดภัย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่าน โมฮัมหมัด จาว๊าด ซารีฟ กล่าวโทษนายจอห์น โบลตัน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าพยายามสร้างความตึงเครียดระหว่างประเทศต่างๆ รวมทั้งอังกฤษ กับรัฐบาลกรุงเตหะราน
ขณะที่ทูตอิหร่านประจำกรุงลอนดอน ฮามิด บาอิดินีจ๊าด กล่าวว่า อังกฤษจำเป็นต้องต้องควบคุมผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองภายในประเทศ ที่ต้องการยกระดับความขัดแย้งระหว่างอังกฤษกับอิหร่านให้เกินกว่าเรื่องของการยึดเรือขนส่งน้ำมัน
ทางด้านอังกฤษเรียกการกระทำของอิหร่านครั้งนี้ว่า "การกระทำที่เป็นปรปักษ์"
รัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหมของอังกฤษ โทบิแอส เอลล์วู้ด กล่าวว่า อังกฤษจะปรึกษากับประเทศพันธมิตรต่างๆ ว่าจะตอบโต้อย่างไร และไม่ตัดโอกาสที่จะใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้นกับอิหร่าน และที่สำคัญคือ ต้องสามารถรับรองความปลอดภัยของเรือขนส่งสินค้าอื่นๆ ที่ติดธงอังกฤษ ซึ่งอยู่ในน่านน้ำที่เกิดความขัดแย้งนั้นได้
ความตึงเครียดในอ่าวเปอร์เซียระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ รุนแรงขึ้น หลังจากที่ในปีที่ผ่านมาประธานาธิบดีทรัมป์ถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ที่ทำไว้กับอิหร่านและมหาอำนาจอีก 5 ประเทศ และใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่เข้มงวดที่มุ่งโจมตีการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน เพื่อกดดันให้รัฐบาลกรุงเตหะรานยอมเจรจาข้อตกลงฉบับใหม่