แม้บราซิลจะขึ้นชื่อว่าเป็นดินแดนที่ผู้คนคลั่งไคล้กีฬาฟุตบอล และเมื่อถึงคราวที่ได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2014 กลับมีกระแสต่อต้านอย่างหนักเพราะไม่พอใจที่รัฐบาลทุ่มงบประมาณเพื่อจัดการแข่งขันมากเกินไปจนละเลยปัญหาในด้านอื่นๆโดยเฉพาะในเรื่องปากท้องของชาวบราซิลที่ยังยากจน
แม้การแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิลจะเริ่มต้นอย่างเป็นทางการไปแล้ว แต่การชุมนุมประท้วงต่อต้านการแข่งขันก็ยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะตามสถานที่ต่างที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ท่ามกลางการวางกำลังคุมเข้มของเจ้าหน้าที่บราซิลและหลายครั้งที่มีการใช้กำลังเข้าปราบปรามอย่างเด็ดขาด
Nica หนึ่งในสมาชิกกลุ่มผู้ประท้วงที่นครเซา เปาโล ให้สัมภาษณ์วีโอเอว่า พวกเขาต้องการความเท่าเทียมทางสังคม การลงทุนด้านการศึกษา สาธารณสุข และบริการด้านสาธารณะ ที่ดีขึ้นแทนที่จะทุ่มงบประมาณไปกับฟุตบอลโลกเพียงอย่างเดียว
การใช้งบประมาณมหาศาล ราว 1,100 ล้านดอลล่าห์ หรือกว่า 32,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลบราซิลทุ่มไปกับการจัดแข่งขันฟุตบอลโลก แต่กลับละเลยการแก้ปัญหาด้านค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่สวัสดิการด้านสุขภาพ สาธารณูปโภค และงบประมาณด้านการศึกษา กลับลดลง
Valeria Mattos คุณครู ในนครเซา เปาโล ออกมาชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องการปรับปรุงระบบการเรียนการสอนให้ดีขึ้น เธอบอกว่า โรงเรียนของเธอถูกตัดงบประมาณด้านการศึกษาและด้านวัฒนธรรม ทั้งๆที่เป็นสิ่งจำเป็นต่อการเรียนการสอน
ที่ชุมชน โมอีนโญ่ (Mohino) ชุมชนแออัดแห่งหนึ่งใจกลางนครเซา เปาโล เป็นส่วนหนี่งที่สะท้อนปัญหา ต ชุมชนที่ไร้การเหลียวแล เด็กๆที่อาศัยกับครอบครัวในชุมชนเสื่อมโทรมแห่งนี้ไม่มีแม้แต่ห้องสุขา และ น้ำประปาใช้
Alessandra Cunha นักกิจกรรมในชุมชน Mohino บอกว่า ยังมีคนอีกจำนวนมาก ที่ต้องการการดูแลและคุ้มครองด้วยงบประมาณเหล่านั้น แต่หลายคนที่ในชุมชนใจกลางเซา เปา ยังต้องอยู่โดยไม่มีน้ำ ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีแม้แต่ห้องน้ำห้องส้วม
นี่คือโลกอีกด้านหนึ่งของ เซา เปาโล นครใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในลาติน อเมริกา และเป็น 1 ใน 12 เมืองที่เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันฟุตบอลโลก จึงไม่แปลกที่บางคนจะบอกว่ามหกรรมครั้งนี้จึงไม่มีความหมายใดๆต่อพวกเขา
ทางการบราซิลตั้งเป้าว่า จะมีแฟนฟุตบอลจากทั่วโลกกว่า 8 แสนคนเดินทางเยือนบราซิลตลอด 1 เดือนของการแข่งขันฟุตบอลโลก และคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและรายได้ในภาพรวม
Anne Hattels แฟนฟุตบอลชาวเดนมาร์ค ที่เดินทางชมฟุตบอลโลกบอกว่า พวกเขาเข้าใจได้ถึงความโกรธของชาวบราซิลที่มองเห็นการใช้เงินมหาศาลเพื่อจัดการแข่งขัน แต่ก็เชื่อว่า ชาวบราซิลคงจะได้ประโยชน์ตอบแทนกลับไปบ้าง
แต่คุณ Alexandre Oliveira ชาวบราซิล ที่ริโอ เดอ จาเนโร บอกว่ารายได้จากแฟนบอลในช่วงฟุตบอลโลกนั้นไม่น่าจะช่วยอะไรมากนัก เพราะสิ่งสำคัญคือ การประเมินว่าหลังจากผ่านพ้นช่วงฟุตบอลโลกไปแล้ว ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป เพราะปัญหาคงไม่ยุติลงตามไปกับการจบสิ้นลงของการแข่งขันฟุตบอลโลกในอีกประมาณ 1 เดือนข้างหน้า
ฟุตบอลโลกในครั้งนี้ ชาวบราซิล จึงต้องลุ้นกันมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะถ้าหากต้องการจะลุ้นให้ทีมชาติบราซิลคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 6 ในบ้านของตัวเองตามความคาดหวังของแฟนบอลทั่วประเทศให้ได้แล้ว ก็จำเป็นต้องลุ้นให้ฝ่ายจัดการแข่งขันของบราซิลสามารถเดินหน้าจัดฟุตบอลโลกได้ตลอดรอดฝั่งด้วยความเรียบร้อยอีกด้วย